สพฉ. จับมือตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต พัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร้รอยต่อ เผยสถิติ 1669 รับแจ้งเคสจิตเวชฉุกเฉินกว่า 2 หมื่นครั้งต่อปี
วันนี้ 14 ธ.ค. 66 ณ ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต เพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกการช่วยเหลือ ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐในการแบ่งปันในการใช้ทรัพยากร หรือบุคลากรเพื่อให้เกิดการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจำเป็นต้องรับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีมีคุณภาพ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมร่วมกัน
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธฺิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาที่มีความสำคัญของประเทศ จากสถิติการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (CBD 13) คลุ้มคลั่ง จิตประสาท พบว่า ในทุกปีมีการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่มีภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต ราวปีละ 21,000 ครั้ง (2563 = 20,936 ครั้ง 2564 = 22,966 ครั้ง 2565 = 21,848 ครั้ง 2566 = 22,855 ครั้ง) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิตที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ และทำลายทรัพย์สิน ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง และเป็นไปตามบริบทของผู้ป่วยและญาติที่ดูแล และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชร่วมกัน
สพฉ. ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิต ได้มีความเห็นพ้องร่วมกัน โดยจัดทำบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วย การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนการระงับเหตุซึ่งเกิดจากคนคลุ้มคลั่งหรือบุคคลที่มีภาวะผิดปกติทางจิตในชุมชน สนับสนุนให้เกิดระบบบริการจิตเวชฉุกเฉิน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกลไกการช่วยเหลือและการลำเลียงหรือขนส่งผู้ป่วยจิตเวช และการรักษาอาการบาดเจ็บตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเหมาะสม โดยใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ
เพื่อส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึงเป็นการกำหนดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานและความร่วมมือตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน และสอดคล้องกับภารกิจที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอันเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่มีภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้รวดเร็วและเพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่มีรายงานบาดเจ็บทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ออกเหตุและบุคคลแวดล้อม ตลอดจนทำให้แนวทางปฏิบัติของระบบบริการสุขภาพทั้งระบบ prevention, pre-hospital care, in-hospital care และ inter-facility transfer เป็นไปอย่างไร้รอยต่อในอนาคต
- 370 views