ผ่านพ้นเดือนกรกฎาคมซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ตรวจเอชไอวีโดยสมัครใจ (VCCT) ไปแล้วครับ ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมาเครือข่ายคนทำงานเรื่องเอดส์ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การแพธ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย คลินิกบางรัก และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ร่วมกันออกหน่วยให้บริการปรึกษาและตรวจเลือดเอชไอวีโดยสมัครใจขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน และห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ง่ายขึ้นโดยหวังว่าเมื่อคนที่ไปตรวจรู้ผลเลือดของตัวเองแล้วจะสามารถจัดการภาวะสุขภาพและวางแผนการใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปได้
ใน ๔ ครั้งของการออกหน่วยให้บริการ พบว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มคนที่หลากหลาย อัตราส่วนระหว่างหญิง ชายที่มาขอรับบริการไม่ต่างกันนักเรียกว่าครึ่งต่อครึ่งก็ได้ครับ ทั้งนี้ มีผู้รับบริการปรึกษา ๔๒๗ ราย ตัดสินใจตรวจเลือด ๔๒๐ ราย และปรากฏว่าติดเชื้อเอชไอวี ๑๐ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒.๓๘ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไม่ควรเกินร้อยละ ๑
ที่น่าสนใจพอๆ กับตัวเลขข้างต้นก็คือ ในจำนวนคนที่มาตรวจนี้มีกลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีรวมอยู่ด้วย ยกพวกเป็นกลุ่มก้อนเข้ามาขอตรวจบ้าง บางรายมาเดี่ยว มารายควงมากับคู่ และบางรายก็มีผู้ปกครองพามาขอรับบริการ กรณีหลังนี่ผมจำได้แม่น และดูเหมือนว่าบทสนทนของทั้งคู่รวมถึงแววตาของเด็กน้อยอายุ ๑๗ ปีคนนั้นจะยังอยู่ในภาพใจของผมตลอดเวลา แม่เด็กเล่าว่าลูกชายกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.๖ ครับ เหตุผลที่แม่พามาตรวจเพราะกังวลเรื่องวิถีทางเพศและพฤติกรรมเสี่ยงของลูก ผมสังเกตท่าทาง สีหน้า และแววตาของเด็กแล้วประเมินว่าเด็กอาจจะไม่ค่อยอยากมาตรวจเท่าไหร่และเป็นไปได้ว่าเด็กอาจจะประเมินได้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ซึ่งผลตรวจก็เป็นไปตามนั้นครับ เด็กมีผลเลือดเป็นบวก
บอกตรงๆ ครับ แวบแรกผมรู้สึกเห็นใจ สงสาร คิดในใจว่าแม่และเด็กคนนี้จะ “รับได้” หรือไม่กับผลตรวจ แต่มาคิดอีกที จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือครับที่รู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะเจ็บป่วยเพราะการดูแลสุขภาพจะง่ายกว่าและไม่ต้องกังวลว่าใครจะรู้ว่าเราติดเชื้อเอชไอวี ยิ่งเราได้เริ่มยาต้านไวรัสตั้งแต่ภูมิคุ้มกันยังไม่ต่ำมาก โอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสก็น้อยมากซึ่งทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเมื่อแม่และน้องคนนี้ได้รับบริการปรึกษาหลังการตรวจแล้วทั้งคู่มีกำลังใจดีครับ และบอกเราว่าจะเข้าสู่ระบบการรักษา จะไปพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะภูมิคุ้มกันซึ่งหากถึงเกณฑ์ที่ต้องรับยาต้านไวรัสก็จะได้รักษาอย่างทันท่วงทีครับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการก็ได้ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิการรักษาตามสิทธิประโยชน์ในบัตรทองซึ่งเป็นสิทธิของน้องคนนี้ด้วยว่าไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผมเพิ่มเติมสำหรับคุณผู้อ่านครับว่าทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิราชการ ต่างก็ครอบคลุมการรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ หมายความว่าผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการตรวจวินิจฉัยและการรับยาต้านไวรัสครับ
เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้ เป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่อยากให้คุณผู้อ่านทุกท่านช่วยกันประชาสัมพันธ์บอกต่อ และ การรู้ผลเลือดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ หากเราเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันถือว่าเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะรับเชื้อเอชไอวีเพราะเราไม่อาจประเมินจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ว่าคู่ของเราติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ การรู้ผลเลือดจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราเดินหน้าสู่กระบวนการรักษาในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวกหรือติดเชื้อเอชไอวี และหากผลเลือดเป็นลบเราก็จะได้ป้องกันให้เป็นลบไปตลอด หรือถ้ายังกังวล สงสัย มีข้อคำถามเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ โทรมา 1663 นะครับ สายด่วนปรึกษาเอดส์ยินดีให้บริการทุกวันตั้งแต่ 10.00-20.00 น.
ในขณะที่เป้าหมายเรื่องเอดส์ของประเทศคือ Getting to Zero อันหมายถึงลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ อัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ และการรังเกียจตีตราให้เป็นศูนย์ ภายใน ๕ ปี แต่ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ยังมีอัตราที่สูงอันเนื่องมาจากการใช้ถุงยางอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก (ราว ๕๐% ของทั้งหมด) คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ผลเลือดของตัวเองเพราะประเมินว่าตัวเองไม่เสี่ยงหรือประเมินว่าตัวเองเสี่ยงแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ จะตรวจเลือดได้จะต้องมีผู้ปกครองลงชื่อยินยอม รวมทั้งรัฐเองก็ไม่ได้มีแผนและงบประมาณในการให้บริการเรื่องถุงยางอย่างจริงจัง ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นทำให้ผมมองไม่ค่อยออกว่ารัฐจะไปให้ถึงเป้าหมาย Getting to Zero ได้อย่างไร
ถ้าใครมองออกก็ช่วยบอกที...หรือถ้าใคร “เสียงดัง” จะช่วยส่งเสียงถึงรัฐด้วยก็จะยิ่งยินดี แต่ในสถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่ารัฐจะมีแผนอย่างไร ผมคิดว่าเราคงต้องจัดการตัวเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อเซ็กส์ที่ปลอดภัยและเป็นสุข หรือถ้าใครพร้อมไปตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี ก็ไปรับบริการได้ตลอดทั้งปีที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ตรวจฟรีปีละ ๒ ครั้งครับ
ที่มา : นสพ.astvผู้จัดการรายวัน วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖
- 19 views