ศิริราชเปิดระบบปฏิบัติการเจาะ-ส่งเลือด ด้วยท่อลมขนาดเล็ก ความเร็วสูง แห่งแรกในเอเชีย ชี้ช่วยลดกำลังคนและย่นระยะเวลาการทำงานให้เร็วขึ้น ทั้งมีความปลอดภัย
วานนี้(5 ส.ค.)โรงพยาบาลศิริราช เปิดตัวระบบปฏิบัติการเจาะ-ส่งเลือด ครบวงจร ด้วยท่อลมขนาดเล็ก ความเร็วสูง แห่งแรกในเอเชีย โดยมี ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นประธาน ร่วมด้วย ผศ.นพ.เสถียร สุขพณิชนันท์ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก รศ.นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช และ รศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รักษาการรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรร่วมแถลงข่าว
ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวิสัยทัศน์ในการ "เป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดินมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล" โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ รวมทั้งลดระยะเวลารอคอยการเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงมุ่งเป้าที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ติดตามรักษา และประเมินสุขภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีการพัฒนาและยกระดับงานบริการทดสอบทางห้องปฏิบัติการสู่มาตรฐานสากล ISO 15189 มากที่สุดเป็นแห่งแรกในระดับมหาวิทยาลัยของไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยนำระบบท่อลมอัตโนมัติขนาดเล็กครบวงจร ซึ่งมีวิธีการส่งหลอดเลือดไปยังห้องปฏิบัติการผ่านทางท่อลม นอกจากจะย่นระยะเวลาและลดกำลังคนแล้ว ยังมีความปลอดภัยด้วย สำหรับระบบนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันในยุโรป ซึ่งเราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงตัดสินใจนำเข้ามาใช้เป็นแห่งแรกในเอเชีย
เมื่อถามถึงระบบนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงใด รศ.นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องรับการเจาะเลือดตามที่แพทย์ประเมินอาการวันละ 1,700-2,000 คน บ่อยครั้งเราพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาแต่เช้ามืด แต่เนื่องจากห้องเจาะเลือดที่ตึกผู้ป่วยนอกอยู่ห่างจากห้องปฏิบัติการที่ตึกจุลชีววิทยา รวมระยะทางประมาณ 450 เมตร จึงมีปัญหาการส่งเลือด ต้องใช้แรงงานคนในการนำส่ง ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาทั้งผู้รับและผู้ให้บริการแล้ว ยังทำให้ผลการวินิจฉัยล่าช้าและผู้ป่วยต้องคอยนานในการรอพบแพทย์ด้วย
สำหรับระบบท่อลมอัตโนมัตินี้ สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดส่งหลอดเลือดให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยใช้แรงดันลมในการนำส่งหลอดเลือดต่อเนื่องกันได้ ผ่านท่อนำส่งขนาด 2.5 ซ.ม. ที่สามารถทนต่อสารทำละลายต่างๆ ด้วยความเร็วเคลื่อนที่ 7 เมตรต่อ 1 วินาที มีอุปกรณ์ตรวจจับความไวที่สามารถบอกสถานการณ์ส่งและบอกจำนวนตัวอย่างที่ส่งผ่านท่อไปแล้วได้ นอกจากนี้ยังมีระบบทำความสะอาดภายในท่อ จึงมั่นใจในความปลอดภัยการใช้งาน
ด้าน ผศ.นพ.เสถียร สุขพณิชนันท์ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก กล่าวว่า ระบบท่อลมอัตโนมัตินี้ เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทยอยจัดส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีความรวดเร็ว ไม่ต้องรอเก็บหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก แล้วให้เจ้าหน้าที่เดินนำส่งห้องปฏิบัติการ ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถวิเคราะห์และรายงานผลตรวจเลือดไปยังแพทย์ได้เร็วขึ้น ก่อนการใช้ระบบท่อลมอัตโนมัติ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก ได้มีการศึกษาผลกระทบต่อการทดสอบเปรียบเทียบกับการส่งด้วยวิธีปกติ และพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 สิงหาคม 2556
- 193 views