รพ.ศิริราช เปิดตัว “โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลือนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน” หรือ Siriraj Mobile Stroke Unit มีปั๊มน้ำมัน ปตท.เป็นจุดนัดพบระหว่างรถกู้ชีพจากสายด่วน 1669 ที่เข้าไปรับผู้ป่วย เพื่อรักษาได้ทันสถานการณ์ภายใน 3 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ณ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “เปิดตัวโครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลือนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช” “Siriraj Mobile Stroke Unit” ร่วมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช, รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช, นพ.สุธน อิ่มประสิทธิชัย รองผู้อำนวยการ รพ.นครปฐม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, นพ.สมชาย จึงมีโชค รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, น.ส.สกาวรัตน์ สมสกุลรุ่งเรือง เลขาธิการมูลนิธิร่วมกตัญญู, นายอรัณ โตทวด ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และนายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลาง ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 1,880 รายต่อแสนราย โดยผลจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 ราย ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5 และพิการถึงร้อยละ 70 อีกทั้งยังพบว่าภาระจากโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับ 1 ในประชากรเพศหญิง และอันดับ 4 ในประชากรเพศชาย และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (hyperacute period) มีความก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน โดยพบว่าเวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษา กล่าวคือ เมื่อเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เนื้อสมองในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของการขาดเลือด (Ischemic core) จะเกิดการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนเนื้อสมองบริเวณโดยรอบที่ขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic penumbra) จะหยุดทำงานและตายไปในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือดอย่างทันท่วงที
จากการศึกษาพบว่าถ้าสามารถแก้ไขการอุดตันของหลอดเลือดสมองได้อย่างทันเวลา เซลล์ประสาทในบริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic penumbra) จะสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตหรือพิการลดลงในที่สุด
แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงและเกิดจากหลอดเลือดใหญ่อุดตันที่มีอาการไม่เกิน 8 ชั่วโมง รวมทั้งมีเนื้อสมองส่วนที่ดีหลงเหลืออยู่มากพอ คือการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการใส่สายสวนเพื่อทำการเปิดหลอดเลือด ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่สามารถให้ยาได้ใน 4.5 ชั่วโมง จะพิจารณาให้ใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการให้บริการด้านการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโดยการใช้สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือด ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ร่วมกับทีมสนับสนุนหลายฝ่ายที่มีความพร้อมสูง รวมทั้งใช้อุปกรณ์และสายสวนที่มีราคาแพง จึงทำให้สามารถทำได้เพียงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์บางแห่งที่มีความพร้อมสูง หรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น
จึงเป็นที่มาของโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นโครงการนำร่องในการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตก ลดระยะเวลาของการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน เพื่อลดอัตราตายหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทเฉียบพลัน ที่อาจได้รับประโยชน์จากการดูแลเร่งด่วนได้ในพื้นที่เกิดเหตุ
ด้าน รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช กล่าวว่า การเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็วนั้น จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้ สำหรับการเข้าถึงการรักษาด้วยรถพยาบาลเคลื่อนที่ รพ.ศิริราช เพื่อให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงรถพยาบาลเคลื่อนที่ที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทีมีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์ฯ จะคัดกรอง แล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.
ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ รพ.ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่มีผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้รับสายและซักถามอาการ และตามทีมแพทย์ พยาบาล นักรังสีการแพทย์ และพนักงานขับรถ ให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย เพื่อการรักษาในรถ Mobile Stroke Unit ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ตามที่ได้ประสานงานไว้แล้ว
ภายในรถพยาบาลเคลื่อนที่ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และตรวจเลือดที่จำเป็นในรถ เพื่อตัดสินการรักษาเบื้องต้น ระบบจะส่งต่อข้อมูลเพื่อปรึกษาทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเตรียมความพร้อมของกระบวนการรักษาในโรงพยาบาลต้นทาง
ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้แพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในรถทันที เพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันโดยเร็วที่สุด หากได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งแตกและตีบจะนำผู้ป่วยส่งหอผู้ป่วย Acute Stroke Unit โรงพยาบาลศิริราช
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบ และไม่มีข้อห้ามในการให้ยา rtPA (ยาสลายลิ่มเลือด) จะทำการให้ยา ยาสลายลิ่มเลือดบนรถพยาบาลเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ก่อนนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะนำผู้ป่วยส่งหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร-ฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมว่าควรรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ทั้งนี้หากสามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ก่อนรับขึ้นรถ Mobile Stroke Unit รถหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS)/ มูลนิธิจะนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต้นสังกัดต่อไป โดย รพ.ศิริราช เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของภาครัฐที่เป็นผู้บุกเบิกในการสร้างต้นแบบการรักษาด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (เอราวัณ) สำนักประสานการแพทย์ฉุกเฉิน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เริ่มจากการหารือข้อดี ข้อเสีย โอกาส และความเป็นไปได้ ที่จะดำเนินการให้การรักษาด้วยรถพยาบาลเคลื่อนที่ จึงเริ่มดำเนินโครงการโดย ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชทำงานร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาวิชาต่าง ๆ และมูลนิธิร่วมกตัญญู ในการออกแบบและดูแลการติดตั้ง ดัดแปลงและประกอบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้ากับรถฉุกเฉิน และตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านการรั่วไหลของรังสีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยและรถพยาบาล ทีมงานของศิริราชได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ถึงรายละเอียดของรูปแบบของระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล (Telemedicine) และการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมทั้งวางแผนด้านบุคลากรที่จะเดินทางไปกับรถ และกำหนดรัศมีทำการและค่าใช้จ่ายของการให้บริการนี้ จากนั้นจึงเริ่มทดสอบการใช้งานของรถและระบบการรักษาพยาบาลทางไกล
สำหรับพื้นที่ให้บริการของรถพยาบาลเคลื่อนที่นั้น เริ่มต้นจากทางทิศเหนือวิ่งถนนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชพฤกษ์ เพื่อเข้าสู่ทิศตะวันออก จากนั้นวิ่งตรงยาวจนบรรจบถนนเพชรเกษม เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางทิศใต้ มุ่งตรงยาวเพื่อไปเลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ด้านทางทิศตะวันตก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวปิดท้ายว่า โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาล เคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันดำเนินการนั้น เป็นหนึ่งในกิจกรรม “ศิริราช ๑๓๐ ปี ๑๓๐ โครงการ ทำงานเพื่อแผ่นดิน” ที่บุคลากรศิริราช ต่างทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยอีกมากมาย ที่ต้องการรักษาและบรรเทาความเจ็บไข้ เป็นการพัฒนาเครือข่ายการรับ-ส่งผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของการพัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล ให้เอื้อต่อการปรึกษากรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรแพทย์อื่น ๆ ได้ร่วมดำเนินการต่อไป อีกทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้และสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยมุ่งเน้นการบริการ สุขภาพที่มีคุณค่า ได้มาตรฐานสากล ความสำเร็จเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดความเป็นเลิศในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระดับประเทศและเอเชียอาคเนย์
- 831 views