นอกจากการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ศูนย์ราชการ ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดนนทบุรีอย่าง"รพ.พระนั่งเกล้า" ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ จะมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 56 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาล 1 ใน 10 ของประเทศ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเทียบกับโรงพยาบาลที่มีอายุใกล้เคียงกัน มีผู้มาใช้บริการเท่ากันกลับพบว่ารพ.พระนั่งเกล้า ยังมีศักยภาพเป็นรองโรงพยาบาลแห่งอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนา รพ. พระนั่งเกล้าให้เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูงเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และข้าราชการในจังหวัดนนทบุรีในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ศูนย์ราชการ ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดนนทบุรีอย่าง"รพ.พระนั่งเกล้า" ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ จะมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 56 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาล 1 ใน 10 ของประเทศ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเทียบกับโรงพยาบาลที่มีอายุใกล้เคียงกัน มีผู้มาใช้บริการเท่ากันกลับพบว่ารพ.พระนั่งเกล้า ยังมีศักยภาพเป็นรองโรงพยาบาลแห่งอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนา รพ. พระนั่งเกล้าให้เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูงเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และข้าราชการในจังหวัดนนทบุรีในอนาคตอันใกล้นี้

นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการ

รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดนนทบุรี มีการขยายตัวจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาอาศัยจำนวนมาก โดยในปี 2555 มีประชากรประมาณ 1.1 ล้านคน  ประชากรแฝงประมาณ 6 แสนคน เป็นจังหวัดที่มีการหลั่งไหลของประชาชนและแรงงานต่างด้าว เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เป็นจำนวนมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านที่พักอาศัย ศูนย์ราชการต่างๆ ก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการขยายเส้นทางการคมนาคม รถไฟสายสีม่วงและการสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่  กาญจนบุรี เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวาย ส่งผลให้จังหวัดนนทบุรีมีความแออัดพอๆ กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลมีภาระงานด้านการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ด้วยพื้นที่ที่คับแคบ ทำให้เราสามารถรองรับคนไข้ได้เพียง 1,200 คน / วัน แต่ปัจจุบัน โอพีดี (OPD) ของเรามีคนมาใช้บริการมากถึง 2,400 คน/วัน ห้องตรวจก็ ไม่พอ คิวก็ยาว รับยาก็ช้า หากเราไม่ขยายหรือพัฒนาศักยภาพ สภาพปัญหาก็จะยังคงดำเนินอยู่เพราะเราไม่สามารถให้บริการประชาชน และข้าราชการกระทรวงต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ามาใช้บริการมากกว่าครึ่งได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิด มาอย่างต่อเนื่องในการขยายโรงพยาบาลและพัฒนาศักยภาพ ที่นอกจากความพร้อมของอาคารสถานที่แล้ว ยังหมายถึงความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่มีศักยภาพเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์หรือ รพ.ศูนย์ ของประเทศ เพื่อให้เป็น โรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง"

นพ.วิรุฬห์ กล่าวต่อไปว่า แนวคิดในการพัฒนาดังกล่าว จะเป็นการรีแบรนด์ (Rebrand) และรีโพซิชั่น (Reposition) เพื่อให้ รพ.พระนั่งเกล้าเป็น"ศูนย์การแพทย์พระนั่งเกล้า"อีกทั้งยังจะช่วยให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชน และเมื่อแนวคิดดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้ รพ. พระนั่งเกล้า ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดฯ เป็นเหมือน รพ.ธงอีกแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

 "เราต้องถามว่าแบรนด์พระนั่งเกล้าขายได้ไหม ถ้าหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์มันขายได้ เราจึงอยากให้เป็น เหมือน รพ. พระมงกุฎเกล้า รพ.ราชวิถี เพราะเราพูดว่าราชวิถีก็เป็น รพ. ประจำกระทรวงอยู่แล้ว รพ.โรคทรวงอกก็เป็น รพ.สังกัดกรมการแพทย์ รพ.ศรีธัญญา ก็กรมสุขภาพจิต ส่วนเราก็จะเป็น รพ.สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อเพิ่มศักยภาพก็ต้องวางโพซิชั่นของ รพ.บางใหญ่ บางบัวทอง และบางกรวยใหม่  ให้เป็น รพ.ทั่วไปขึ้นมา คือยกระดับเราให้อยู่ในระดับตติยภูมิระดับสูง อย่างเดียวไม่ได้ต้องไปทำทั้งจังหวัด  แนวคิดนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด และสส.จังหวัดนนทบุรีเข้ามาสนับสนุน"

สำหรับการสร้างศักยภาพให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับแนวคิดของการเป็นศูนย์การแพทย์พระนั่งเกล้า ผู้อำนวยการ รพ. พระนั่งเกล้ากล่าวว่า ได้เตรียมการในหลายส่วน ทั้งส่วนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีงบประมาณจากรัฐบาล มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ให้การสนับสนุน

ตอนนี้เรากำลังจะสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พระนั่งเกล้า 18 ชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 59  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากรัฐบาล 750 ล้านบาท  ส่วนการจัดหาทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มีมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เราจะมีรายการพิเศษเพื่อเปิดรับบริจาคจากทุกภาคส่วนทาง ททบ. 5 เวลาออกอากาศ  22.20 - 00.25 น.  คาดว่าจะได้รับการบริจาคประมาณ 50 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะทำให้เราสามารถรองรับการบริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะศูนย์การแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคไต ศูนย์การแพทย์ทางเลือก ศูนย์แพทย์แผนจีน ศูนย์อุบัติเหตุ ฯลฯ

 นพ. วิรุฬห์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาอุปสรรคของ รพ.พระนั่งเกล้าในการก้าวสู่การพัฒนาที่แข็งแกร่งในอีก 3-4 ปี ข้างหน้า คงจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากอาคารสถานที่ที่กำลังได้รับการพัฒนาแล้ว ยังต้องพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ระหว่างดำเนินการอยากให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเห็นใจในการทำงาน เพราะอาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวก เกิดการร้องเรียน ก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจต่อไป โดยเฉพาะปัญหาเรื่องระบบเทคโนโลยีที่ล่าช้า และความแออัด อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามแผนก็น่าจะได้คลี่คลายไปในทางที่ดี

"เราจะพยายามปรับปรุงและพัฒนาตามแผน คิดว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีปัญหา เพราะเราจะก้าวสู่ รพ.ระดับตติยภูมิขั้นสูง ที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางหลายๆ ด้าน ที่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของนนทบุรีและสามารถที่จะแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ เช่น รพ. ศิริราช รพ. รามาธิบดี และรพ. ราชวิถี ได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญผมคิดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่น่าภาคภูมิใจ  สำหรับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสนับสนุน รพ.พระนั่งเกล้าเพื่อการพัฒนาในครั้งนี้ได้" นพ. วิรุฬห์ กล่าวในตอนท้าย

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--