รพ.พระนั่งเกล้าย้ำจุดยืนหนุนแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะการแยกเงินเดือนจากงบรายหัว การลดกองทุนย่อยและเพิ่มตัวแทนหน่วยบริการในบอร์ด สปสช. เชื่อจะช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินให้ดีขึ้น
นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล
นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า บุคลากรโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าทุกวิชาชีพได้ประชุมหารือเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และมีมติร่วมกันว่าโรงพยาบาลมีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายทั้ง 14 ประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นปัญหาที่สะสมในระบบหลักประกันสุขภาพมาตลอด 15 ปี
อย่างไรก็ดี มี 4 ประเด็นที่โรงพยาบาลเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษประกอบด้วย
1.โรงพยาบาลสนับสนุนอย่างยิ่งในการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากรายรับจากเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวนี้ เมื่อหักเงินเดือนออกไปแล้วทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เงินรายหัวที่ลงไปถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน
2.สนับสนุนการมีตัวแทนหน่วยบริการจากทุกสังกัดและทุกระดับ เพิ่มเข้าไปในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ฟังความเห็นอย่างรอบด้าน
3.สนับสนุนให้ลดการแยกกองทุนย่อย กองทุนพิเศษต่างๆ เนื่องจากทำให้งบประมาณที่จะดำเนินภารกิจหลักในการให้บริการประชาชนลดลง โดยเห็นว่าหากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องการทำเรื่องใด ควรพูดคุยกับหน่วยบริการ ซึ่งจะทำให้เงินเหมาจ่ายรายหัวยังอยู่กับหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่
4.สนับสนุนระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส แม้ข้อนี้จะไม่ใช่ผลกระทบต่อโรงพยาบาลโดยตรง แต่เห็นด้วยในหลักการว่าควรมีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ทั้งระบบ ทั้งโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.
“เราสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายโดยไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชนและยืนยันว่าประชาชนยังคงได้รับบริการจากเราเช่นเดิมหรือมีแต่จะดีขึ้นในอนาคต” นพ.วิรุฬห์ กล่าว
นพ.วิรุฬห์ กล่าวว่า ประเด็นการไม่แยกกองทุนย่อย การแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจายรายหัว และการมีตัวแทนหน่วยบริการอยู่ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขที่ตอบโจทย์โรงพยาบาลซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินจนมีผลการขาดทุนสะสมกว่า 300 ล้านบาทในขณะนี้
“เราอยู่ในกลุ่มของโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเราอยู่ใกล้ กทม. คนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพมาใช้บริการเราค่อนข้างเยอะและมีความคาดหวังสูง อีกทั้งเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการขยายศักยภาพซึ่งการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคที่มีความซับซ้อน แต่ได้รับค่าชดเชยกลับมาน้อยไม่สมเหตุสมผลกับต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาการเงินการคลัง รวมทั้งกองทุนย่อยต่างๆ ที่หักเงินไปอีกส่วน ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ขาดสภาพคล่อง แม้เราจะพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพควบคุมค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่เรื่องรายรับที่ได้รับจัดสรรเราควบคุมไม่ได้ ก็หวังว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะตอบโจทย์ เราได้ประโยชน์และประโยชน์ก็ตกสู่ประชาชน ประชาชนได้รับบริการคงเดิมและดีขึ้น” นพ.วิรุฬห์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ
นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง
สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว
สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน
ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย
ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้
อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้ปมแยกเงินเดือนจากงบรายหัว กระทบ รพ.ที่จ้างบุคลากรนอกงบประมาณ
‘รพ.สิงห์บุรี’ ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก
‘ผอ.รพ.รามัน’ ขวางแยกเงินเดือนบุคลากร หวั่นกระทบ รพ.ขนาดเล็ก-ประชาชน
‘หมอวินัย’ ห่วงแยกเงินเดือนจากงบรายหัว ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่
ผอ.รพ.ประจวบฯ ชี้ผูกเงินเดือนกับงบรายหัว หลักคิดดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้
ผอ.รพ.ตากใบ หวั่นผลกระทบลูกโซ่แยกเงินเดือนจากรายหัว ชี้ รพ.ชุมชนอ่วม
‘ผอ.รพ.บ้านแพ้ว’ ชี้ ข้อดี-ข้อเสียแยกเงินเดือนจากงบรายหัวบัตรทอง
- 71 views