รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังร้องขอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนกรณีพนักงาน/ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ กลับถูกผลักเข้าไปใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งสิทธิการรักษาแตกต่างจากข้าราชการมาก ส่งผลต่อขวัญกำลังใจ ซึ่งจากการพิจารณา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 9 สามารถบริหาร ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการได้รับบริการสาธารณสุขได้แล้วแต่กรณี โดยอาจกำหนดในรูปของการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้ด้วยจัดสรรงบจากเดิมต้องจ่าย สปส.มาให้ สปสช. บริหารแทน
"พนักงานมหาวิทยาลัย ต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมสัดส่วนคนละ 33% โดยมหาวิทยาลัยจ่ายให้อีก 33% รัฐสนับสนุนอีก 33% หรือคิดเป็นเงินที่พนักงานมหาวิทยาลัยจ่ายคนละ 1,800 บาทต่อเดือน หรือ 21,600 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานราชการและบุคลากรที่ไม่ใช่ข้าราชการจำนวน 131,692 คน ระบบประกันสังคมจะได้รับงบประมาณเกือบ 3 พันล้านบาทต่อปี ส่วนกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการมีงบประมาณปีละ 60,000 ล้านบาทต่อข้าราชการ 5 ล้านคน ตกปีละ 12,000 หรือเดือนละ 1,000 บาทต่อคน การให้พนักงานมหาวิทยาลัยออกมาใช้ระบบทัดเทียมราชการย่อมประหยัดได้ในภาพรวม" รศ.วีรชัยกล่าว และว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือ เรื่องนี้
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view