เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำคณะคาราวานวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่ไปรณรงค์กำจัดยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ที่ จ.ยโสธร โดยได้มอบแบคทีเรียกำจัดและควบคุมลูกน้ำยุงลาย 10,000 ซอง เครื่องทำลายลูกน้ำยุงลายด้วยอัลตราโซนิก 5 เครื่อง และมุ้งเคลือบน้ำยานาโน 1,000 หลัง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษสามารถกำจัดยุงให้ตายเฉียบพลัน ให้นาย นิรันดร์ สมสมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นำไปจัดรณรงค์ในพื้นที่ เนื่องจาก จ.ยโสธร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ได้ส่งมอบเครื่องสีข้าว ในโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีชุมชน ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้นให้ทดลองใช้ด้วย
นายพีรพันธุ์ให้สัมภาษณ์ว่า "จ.ยโสธร เป็นอีกพื้นที่ที่มีปัญหา จึงได้มอบหมายให้ สวทช.นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนวัตกรรมหลายรูปแบบที่มีศักยภาพไปช่วยแก้ปัญหา โดยลดแหล่งแพร่พันธุ์เพื่อควบคุมจำนวนยุงลาย ตลอดจนการลดการสัมผัสยุง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน ประกอบด้วย แบคทีเรียควบคุมและปราบยุง ชื่อว่า 'บาซิลลัส ธูรินจิ เอ็นชิส อิสราเอลเอ็นซิส' (B.T.I) มีคุณสมบัติทำลายกระเพาะอาหารของลูกน้ำยุงลาย ออกฤทธิ์ภายใน 24 ชั่วโมง และมุ้งเคลือบน้ำยาฆ่ายุงนาโน ซึ่งมาจากการสังเคราะห์สารเคมีชื่อว่า 'Deltamethrin' ที่เลียนแบบจากสารสกัดในธรรมชาติ มีคุณสมบัติป้องกันยุง เช่น ดอกเก๊กฮวย ดอกดาวเรือง ฯลฯ โดยมีกลไกพิเศษคือ สารสังเคราะห์ชนิดนี้จะซึมผ่านประสาทสัมผัสยุงที่ปลายขา และมีผลต่อระบบประสาทของยุง ทำให้ช็อกตายในที่สุด" นายพีรพันธุ์กล่าว และว่า ผลงานดังกล่าว สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเอกชนแล้ว และได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย เตรียมลงพื้นที่เสี่ยงอีก 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต เพชรบูรณ์ และระยอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 กรกฎาคม 2556
- 5 views