เข้าฤดูฝน ก็ต้องเฝ้าระวังอันตรายจากภาวะโรคไข้เลือดออกระบาดมากขึ้นเป็นพิเศษ
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำทีมข้าราชการและผู้บริหาร หน่วยงานในกระทรวงเดินทางเยือนโรงเรียนยโสธรพิทยาคม จ.ยโสธร วันที่ 24 ก.ค. เนื่องในส่วนหนึ่งของโครงการคาราวานวิทยาศาสตร์ นำเสนอเทคโนโล ยีต้านภัยโรคไข้เลือดออก ที่คิดค้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
ดร.พีรพันธุ์ส่งมอบเทคโนโลยีเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิกจำนวน 5 เครื่อง ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของนักศึกษาจากมทส. นายปัญญา หันตุลา และ นายธราวุธ บุญน้อม ผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มทส. พร้อมกล่าวว่า วท. สนับสนุนการวิจัยชิ้นนี้ โดยคาดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยสำรองน้ำขนาดเล็กที่ไม่ต้องการให้มีสารเคมีปนเปื้อน
หลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวคือ ส่วนหัวของเครื่องที่จุ่มลงไปในน้ำจะปล่อยคลื่นต่ำกว่าเสียงที่มีความถี่เท่ากับตัวลูกน้ำไปในกระแสน้ำซึ่งจะไปทำลายตัวอ่อนของลูกน้ำยุง
นอกจากเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงแล้ว วท.ยังนำเสนอเทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ Bacillus Thuringiensis Isarae-lensis (BTI) ซึ่งมีประสิทธิภาพออกฤทธิ์เฉพาะกับลูกน้ำยุงเท่านั้น โดยเมื่อลูกน้ำยุงกินเข้าไปจะค่อยกัดกระเพาะลูกน้ำยุงจนตาย
ทีมนักวิจัยจากสวทช.ยืนยันว่าสารดังกล่าว ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ สารเคมีผงในซองเล็กๆ 1 ซอง ใช้ได้กับน้ำ 200 ลิตร และออกฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงได้ภายใน 24 ชั่วโมง และจะคงอยู่ในน้ำนาน 45 วัน
เทคโนโลยีสุดท้ายที่วท.นำมาเสนอ ได้แก่ "มุ้งเคลือบน้ำยาฆ่ายุงนาโน" ซึ่งเป็นมุ้งที่เคลือบสารเคมีที่จะออกฤทธิ์ทำให้ยุงที่มาเกาะมุ้งค่อยๆ ตายลง ซึ่งสารดังกล่าวผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าปลอดภัยต่อมนุษย์ และทนการซักล้างได้กว่า 500 ครั้ง
เทคโนโลยีสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุง และเทคโนโลยีมุ้งนาโนกำจัดยุงนั้น ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นโดยสวทช. ก่อนส่งมอบให้กับบริษัทเอกชนไทย ได้แก่ บริษัท ทีเอฟไอ กรีน ไบโอเทค จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงกำจัดลูกน้ำยุง โดยใช้สาร BTI ซึ่งผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และบริษัทเนตโต้เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสวทช.ไปผลิตและจำหน่ายในราคาหลังละ 300 บาท
ในช่วงบ่าย ดร.พีรพันธุ์เดินทางลงพื้นที่เพื่อสาธิตการใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัดยุงลายและส่งมอบสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงจำนวน 10,000 ซอง และมุ้งนาโนกำจัดยุงจำนวน 500 หลังให้กับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดยโสธรด้วย
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกระบาดเป็นประจำทุกปีและจัดอยู่ในกลุ่ม "โรคอุบัติซ้ำ" มักระบาดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
ในปี 2556 พบอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถึง 54,042 คน โดยใน 1 แสนคนจะมีผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดโรค ราว 84.34 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.11
โรคไข้เลือดออกส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรณรงค์ป้องกัน และสร้างความตระหนักและตื่นตัวในการป้องกัน โดยสถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคไข้เลือดออกก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจถึง 2,000-10,000 ล้านบาท
น.ส.สุดารัตน์ ชารีดา หนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนยโสธรพิทยาคม กล่าวว่า ครูและหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดรณรงค์เรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี และในโรงเรียนจะกำจัดยุงโดยใช้สารเคมีเป็นประจำทุกปีในช่วงวันหยุด อย่างไรก็ตามเทคโน โลยีที่วท.นำมาเสนอนั้น ตนยังไม่ค่อยเข้าใจหลักการ แต่เชื่อว่าหากประสบผลตามที่นำเสนอก็น่าส่งผลดีต่อชุมชน
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 30 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- พีรพันธุ์ พาลุสุข
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)
- วรวิตา แย้มสุดา
- โรงเรียนยโสธรพิทยาคม
- โรคไข้เลือดออก
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
- เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิก
- ปัญญา หันตุลา
- ธราวุธ บุญน้อม
- ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล
- มทส.
- Bacillus Thuringiensis Isarae-lensis (BTI)
- ลูกน้ำยุง
- มุ้งเคลือบน้ำยาฆ่ายุงนาโน
- สุดารัตน์ ชารีดา
- 193 views