กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตามอง หลังจากที่บริษัทยาสูบข้ามชาติ 2 เจ้าใหญ่ อย่าง บ.เจแปน โทแบคโก อินเตอร์เนชั่นแนล จากญี่ปุ่น และ บ.ฟิลิป มอร์ริส จากสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองถึงพิษภัยของบุหรี่ จากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 85 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2556 เป็นต้นไป ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการแทรกแซงทางการค้า และจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของตนในประเทศไทย
ขณะที่ในมุมของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รมว.สาธารณสุข ยังคงยืนยัน เดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป เพราะยาสูบถือเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย การจำหน่ายต้องทำอย่างปิดลับไม่มีการนำเสนอเชิงโฆษณาในที่สาธารณะอยู่แล้ว และย้ำว่าสุขภาพของคนไทยต้องมาก่อน หรือความเห็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้วรมช.สาธารณสุข ที่กล่าวว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จะช่วยให้ คนหยุดคิดพิจารณาก่อนจะสูบ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกอยากรู้อยากลอง
ล่าสุดไม่นานนี้ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทย ปลอดบุหรี่ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการเดินหน้าครั้งนี้ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดย นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และอดีตนายกแพทยสมาคมโลก ถึงกับกล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการวัดใจว่า กฎหมายไทยจะสามารถคุ้มครองสุขภาพของคนไทยได้หรือไม่? หลังจากที่ทุนยาสูบข้ามชาติพยายามรุกหนักในหลายๆ ประเทศมาแล้ว
"ภาพบนซองบุหรี่ มีผลต่อการที่จะสร้างความตระหนักให้กับเยาวชน ที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่แล้วกำลังอยากจะทดลองเข้าสู่วังวนนี้ เป็นการสร้างความตระหนักให้รู้จักถึงพิษภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับสารพิษเหล่านี้ที่อยู่ในซอง ซองบุหรี่เป็นตัวประชาสัมพันธ์ ทั้งการป้องกันโรคและให้ความรู้กับประชาชน
การที่บริษัทบุหรี่ กล้าหาญที่จะฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เป็นการทดสอบว่ากฎหมายไทย สามารถจะปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนคนไทยได้หรือไม่? ไม่ใช่เขาไม่รู้นะครับ..เขามีตัวอย่างที่อุรุกวัย ที่ออสเตรเลีย ซึ่งเขาแพ้คดีมาแล้ว ยกเว้นในศรีลังกา ที่คดียังอยู่ในศาลฎีกา เขารู้อยู่แล้วว่าเขาฟ้องเขามีจุดอ่อน แต่เขากำลังทดสอบกับกฎหมายไทย ว่าจะแข็งเท่าออสเตรเลีย แข็งเท่าอุรุกวัย แข็งเท่าศรีลังกาหรือไม่?"
นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวชี้แจง พร้อมกับเล่าต่อไปว่า ในฐานะที่ทำงานให้แพทยสมาคมโลกอยู่ด้วย ในการประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศบราซิล จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ทั้งนี้ ได้แสดงความวิตกกังวลว่า ทุนบุหรี่ข้ามชาติมีอิทธิพลสูงมาก ถึงขนาดกล้าที่จะเข้าไปแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นอธิปไตยของแต่ละประเทศได้
"ผมจะทำหน้าที่เสนอเรื่องนี้ ให้ท่านเลขาธิการ Dr.Margaret Chan (เลขาธิการองค์การอนามัยโลก-WHO) ได้ทราบถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ผมเชื่อว่าทั่วโลกจะฟังเราครับ แล้วก็อยากจะรู้ว่า อิทธิพลของเงิน อิทธิพลของบริษัทบุหรี่ ซึ่งไปอ้าง WTO (องค์การการค้าโลก) ไปอ้าง TRIPS (มาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญา) อ้าง TRIPS-Plus ต่างๆ มาฟ้องกระทรวงสาธารณสุข
เขากำลังทำให้กฎหมายไทยขาดประสิทธิภาพ กฎหมายไทย เป็น Domestic Law (กฎหมายในประเทศ) ต้องดูแลคนไทยครับ โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยของคนไทย" นพ.วันชาติ กล่าว และเสริมว่า ที่ประเทศออสเตรเลีย ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มีขนาดถึงร้อยละ 87.5 ของพื้นที่ซอง ส่วนที่อุรุกวัยนั้นมีขนาดร้อยละ 80 ของพื้นที่ซอง
สอดคล้องกับความเห็นของ น.ส.ส่องแสง ธรรมศักดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (Quitline 1600) ที่ระบุว่า จากสถิติการเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา พบว่าผู้ที่โทรศัพท์มาขอคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ มีสาเหตุมาจากการได้เห็นภาพคำเตือนที่ดูน่ากลัวสยดสยอง ที่แสดงให้เห็นพิษภัยจากบุหรี่บนซองมากที่สุด
"ตั้งแต่ทำงานเมื่อปี 2552 ข้อมูลเก็บได้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พบว่าคนที่โทร.เข้ามาหาเราและต้องการเลิกสูบบุหรี่ รู้เลข 1600 และต้องการเลิกบุหรี่ มาจากภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นอันดับ 1 และเป็นทุกๆ ปีตั้งแต่ 2553, 2554, 2555 แล้วก็ 2556 ในครึ่งปีแรก ก็จะเห็นว่าพอเราให้คำปรึกษาไป เราก็จะมีการขออนุญาตโทร.ไปเยี่ยมให้กำลังใจ จนครบ 1 ปีในแต่ละคน ปรากฏว่ากลุ่มที่เราเก็บข้อมูลได้ ว่าคนที่สามารถเลิกได้เป็นกลุ่ม ที่ใหญ่ที่สุด เป็นกลุ่มที่เห็นภาพจากคำเตือนบนซองบุหรี่"คุณส่องแสง ชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงสถิติ
เช่นเดียวกัน ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า บุหรี่เป็นยาเสพติดที่เสพได้ง่ายที่สุดแต่เลิกได้ยากที่สุด โดยยกตัวอย่างกรณีข่าวที่มีเด็กอายุ 2 ขวบ ในประเทศอินโดนีเซีย สูบบุหรี่เฉลี่ย 40 มวนต่อวัน ซึ่งเมื่อข่าวดังกล่าวดังไปทั่วโลก ทางการอินโดนีเซียต้องใช้เวลากว่า 6 เดือน ถึงจะทำให้เด็กคนดังกล่าวเลิกสูบบุหรี่ได้ หรือข้อมูลของ สถาบันบำบัดผู้ติด ยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา (National Institute on Drug Abuse-NIDA USA) ที่พบว่าบุหรี่เลิกยากที่สุด ยิ่งกว่ายาเสพติดร้ายแรงอย่างโคเคนหรือเฮโรอีน
"สถาบันบำบัดผู้ติดยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาวิจัยนี้ โดยสังเกตผู้ที่ทดลองเสพยาเสพติดทั้งหลาย แล้วก็ติดตามไปดู พยายามช่วยบำบัดเขาให้เลิก สิ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลที่ออกมา เมื่อเทียบกันระหว่างผู้ที่ลองเสพกัญชา โคเคน ยาสูบ เฮโรอีน และแอลกอฮอล์ (เหล้า-เบียร์)
ปรากฏว่าคนที่เลิกไม่ได้ เยอะที่สุดคือยาสูบ 1 ใน 3 (32 เปอร์เซ็นต์) ของคนที่ทดลองสูบยาสูบ ทดลองเพียงครั้งเดียวนะครับ 1 ใน 3 เลิกไม่ได้ คือติดงอมแงมไปตลอดชีวิตเลยนะ ในขณะที่เฮโรอีนที่เรากลัวกันนักหนา หรือโคเคนที่ทราบกันว่า เป็นยาเสพติดร้ายแรง เพียงแค่ 23 เปอร์เซ็นต์ และ 17 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ที่ยังต้องเสพไปตลอดชีวิต ยังน้อยกว่าบุหรี่นะครับ"
นพ.สุทัศน์ ชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวของบุหรี่ ที่แม้ลองเพียงครั้งเดียวก็อาจติดไปตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้ยังกล่าว เพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยนั้น มีผู้สูบบุหรี่เพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ก่อนที่จะล้มป่วย ส่วนมากจะเข้าทำนอง "กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว" คือต้องอาการหนัก เสียก่อนจึงจะเลิกได้ ทั้งนี้ต่อให้เลิกได้จริง แต่สภาพร่างกายได้ทรุดโทรมไปมากแล้ว จนยากที่จะฟื้นคืนดังคนปกติได้ ดังจะเห็นได้จากผู้ป่วยหลายรายต้องทุกข์ทรมานจากโรคถุงลมโป่งพอง เพราะต้องเจาะคอเพื่อช่วยในการหายใจ
ปิดท้ายที่ความเห็นของ นพ.วันชาติ อีกครั้ง ที่กล่าวว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ตนคงไม่อาจบอกได้ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะ เพราะท้ายที่สุดก็อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาล หากแต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้หากกระทรวงสาธารณสุข เป็นฝ่ายแพ้คดี คือกลุ่มทุนบุหรี่ข้ามชาติอาจใช้เป็นกรณีตัวอย่าง ในการไปต่อสู้กับนโยบายควบคุมยาสูบ ในประเทศอื่นๆ ต่อไป พร้อมกับเพิ่มเติมว่า..เงินทุนของกลุ่มธุรกิจนี้ มีมากกว่างบประมาณทั้งประเทศของไทยเสียด้วยซ้ำไป
"ผมไม่ได้ไปพูดว่า เราจะแพ้หรือชนะในคดีนี้ อยู่ที่ศาลตัดสินครับ แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจะถูกย่ำยี และจะเป็นกรณีที่กระจายไปสู่ต่างประเทศทั่วโลก เป็นกรณีตัวอย่าง ว่าแม้แต่กฎหมายในประเทศเราเอง เรายังไม่สามารถพิทักษ์ปกป้องคนของเราได้ ยังไม่สามารถพิทักษ์ปกป้องสุขภาพของประชาชนคนไทยได้
ก็ขออนุญาตกราบเรียนนะครับ ด้วยความเคารพต่อศาล ด้วยความเคารพต่อกฎหมาย ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน แต่กรณีนี้เป็นวิกฤติครับ ถ้ากรณีนี้ถูกตัดสินว่ากฎหมายไทยไม่สามารถจะคุ้มครองคนไทยแล้ว ผมคิดว่าการทำงานของเครือข่าย (ด้านสาธารณสุข) ในอนาคตคงขาดผู้คุ้มครอง ผู้คุ้มกันการปฏิบัติงานของเรา" นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกๆ ปี จะมี ผู้เสียชีวิตด้วยโรคภัยจากบุหรี่ปีละ 6 ล้านคน หรือชั่วโมงละ 660 คน ส่วนในประเทศไทย เสียชีวิตปีละ 5 หมื่นคน หรือชั่วโมงละ 6 คน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ระบุว่า รัฐต้องเสียเงินกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้อายุขัยของผู้สูบบุหรี่ จะสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 12 ปี
ศึกครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ เพราะมีเดิมพันเป็นสุขภาพของคนไทย หรืออาจจะของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 22 กรกฎาคม 2556
- 11 views