“การลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวม 3 กองทุนแต่อยู่ภายใต้ระบบเดียว ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียว”
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทวิเคราะห์ กลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คนไทยทุกคนต้องได้รับบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันแต่ในความเป็นจริง ระบบได้สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำทำให้คนบางกลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเพราะระบบประกันสุขภาพของไทยเกิดมาทีละชิ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เริ่มจากสวัสดิการข้าราชการ เป็นกลุ่มแรก ต่อมาคือประกันสังคม และต่อมาคือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็ทำให้ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มแต่เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ
ระบบประกันสุขภาพของไทยมีลักษณะที่แปลกกว่าประเทศอื่นคืออยู่ภายใต้หลายกระทรวง ทำให้บริหารจัดการได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน จะเห็นได้จากอัตราเหมาจ่ายรายหัวของแต่ละกองทุน โดยข้อมูลในปี 2554 พบว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลคนกว่า 48.12 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,091 บาท/คน ประกันสังคมดูแลคน 9.9 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 25,361 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,562 บาท/คน ขณะที่สวัสดิการข้าราชการดูแลคน 4.4 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 61,844 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 14,056 บาท/คน
ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกรูปแบบและแตกต่างกันทั้งสิทธิประโยชน์ คุณภาพในการรักษาพยาบาล และค่าเบี้ยประกัน ตัวอย่างเช่น กรณีสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กองทุนก็ได้รับไม่เท่าเทียมกัน เป็นโรคเดียวกันเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลก็จะแตกต่างกันตามสิทธิที่ติดตัวมา ทั้งที่ความจริงไม่ว่าจะมาจากระบบประกันแบบไหนก็ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การแยกระบบแยกการบริหารดังที่เป็นอยู่ทำให้เกิดต้นทุนที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ การลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวม 3 กองทุนแต่อยู่ภายใต้ระบบเดียว ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียว สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน ผู้ประกันตนหรือนายจ้าง มิใช่รัฐจะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน
ข้อเสนอ คือ ประเทศไทยควรพัฒนาระบบประกันสุขภาพโดยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นแกนหลัก โดยให้ สปสช.ดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยมาตรการที่เท่าเทียมกัน ส่วนกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคมอยากให้สิทธิประโยชน์ใดเพิ่มเติมก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเติมเข้ามา แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังคือการได้สิทธิพิเศษนั้นต้องไม่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสังคม เช่น การชดเชยรายได้ในกรณีลางานเพื่อคลอดบุตรหรือเจ็บป่วย สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเพิ่มเติม เช่น การใช้บริการในสถานพยาบาลเอกชน การเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการทันตกรรม การรักษาพยาบาลจากแพทย์ทางเลือก เป็นต้น และเป็นสิทธิที่ไม่ใช่การเบียดเบียนใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด
ที่สำคัญ ระบบประกันสุขภาพในอนาคตควรเป็นระบบที่มีการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น และมีกลในการส่งเสริมความรับผิดชอบ
- 12 views