Hfocus -วันที่ 10 ก.ค. โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานด้านนิติบัญญัติของวุฒิสภาได้จัดเสวนาเรื่อง "สภาพปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2555 หรือ กอช. เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มา 2 ปีแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกที่ 3 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งมีหลักการเดียวกับ กอช. แทน
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าปัญหาเกิดจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไม่ยอมลงนามในกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆที่รองรับการดำเนินการของกอช. และไม่ยอมชี้แจงเหตุผลใดๆ ทำให้ยังไม่สามารถรับสมัครสมาชิก กอช.ได้ในขณะนี้
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังทำมาหากินไปวันๆ ไม่มีการเก็บหอมรอมริบ ในอดีตผู้สูงอายุยังอยู่ได้เพราะมีลูกหลายคน ลูกแต่ละคนก็ช่วยดูแลพ่อแม่กันไป แต่แนวโน้มผู้สูงอายุในอนาคตจะลำบากมากขึ้น เพราะคนปัจจุบันมีลูกน้อยลง เมื่อแก่ตัวมาจะไม่มีลูกหลานดูแลและมีปัญหาไม่มีเงินใช้
"เงินผู้สูงอายุที่รัฐบาลให้เดือนละ 600-700 บาท พูดตรงๆก็เหมือนเงินให้ทาน มันค่อนข้างไม่มีศักดิ์ศรี คนเราจะมีศักดิ์ศรีมันต้องใช้เงินของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหานี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2551 จึงเห็นชอบให้มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายการออมขึ้น เป็นทางมีของ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2555"นพ.บรรลุ กล่าว
นพ.บรรลุ กล่าวว่า ปัจจุบัน สำนักเศรษฐกิจการคลังเตรียมกฎหมายลูกของ กอช. ไว้ 32 ฉบับแล้ว เหลือแค่ให้นายกิตติรัตน์ลงนามเท่านั้น ถ้าลงนามเรื่องก็จบ แต่ไม่ยอมลงนามสักที อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดบทลงโทษรัฐมนตรีกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือถอดถอนก็ยาก ฉะนั้นได้แต่ต้องทนต่อไป และความล่าช้าที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
"กฎหมายกอช. เป็นกฎหมายอิสระ แต่กลับจะไปใช้กฎหมายประกันสังคมซึ่งไม่เป็นอิสระแทน ขอยืนยันว่าไม่เอา เหมือนเรามีบ้านที่เป็นอิสระอยู่แล้ว แต่จะไปอยู่บ้านหลังอื่นเป็นขี้ข้าคนอื่น"นพ.บรรลุ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุและจะมีจำนวนคนแก่อีกมากใน 20-30 ปีข้างหน้า และเมื่อคนยุคปัจจุบันมีลูกน้อยลง ทำให้มีคนดูแลคนแก่ในอนาคตน้อยลงด้วย เมื่อไม่มีลูกเกื้อหนุนคนแก่ก็มีปัญหาเศรษฐกิจ ต้องหารายได้เอง ดังนั้นการสร้างหลักประกันโดยรัฐเป็นเรื่องจำเป็น
"กฎหมายกอช.ตอบโจทย์สังคมในอนาคตแน่นอน ข้อดีคือมันออกแบบมาให้ครอบคลุมคนที่ไม่อยู่ในระบบบำนาญ ยืดหยุ่น คำนึงถึงธรรมชาติแรงงานนอกระบบ คือไม่มีจ่ายเงินออมเขาก็ไม่ไล่ออกจากสมาชิกกองทุน มีเมื่อไหร่ค่อยมาจ่าย ให้แต่บำนาญไม่มีบำเหน็จ ซึ่งแม้จะได้น้อยแต่มั่นคงและยั่งยืน ต่างจากบำเหน็จที่ได้เงินก้อนแต่ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเงินจะมีใช้จนกว่าจะสิ้นอายุ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นเรื่องธรรมภิบาลที่มีทั้งคณะกรรมการนโยบาย เปิดโอกาสเจ้าของเงินมาร่วมบริหาร มีคณะกรรมการบริหารการลงทุน ที่สำคัญกฎหมายนี้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ผ่านการถกเถียงกันแทบเป็นแทบตามกว่าจะออกมากได้ มันมาจากระดับล่างขึ้นบน ไม่ใช่ให้คนไม่กี่คนมาชี้ว่าจะเอาแบบนั้นแบบนี้"รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ ให้ความเห็นว่า ในส่วนของการออมผ่านทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 นั้น มีปัญหาคือโครงสร้างของประกันสังคมยังเป็นระบบไตรภาคี คือบริหารโดยตัวแทนรัฐ ลูกจ้างและนายจ้าง เป็นการบริหารงานที่ผิดฝาผิดตัวเพราะเงินออมส่วนนี้เป็นของแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ ปรัชญาของประกันสังคมคือระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ไม่เอื้อกับกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งเหมาะกับระบบแบบบัญชีรายตัวมากกว่า
"ปัญหาคือรัฐมนตรีไม่เซ็นกฎหมายลูก ทั้งๆที่การออกกฎหมายฉบับนี้ต้องผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตย แต่ได้มาแล้วไม่เอาไปใช้ แบบนี้บ้านเมืองจะอยู่ยังไง ข้อดีของกฎหมายก็พูดกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ว่าจะเอายังไงต่อ ตอนนี้เป็นเรื่องของคนไม่กี่คนแล้วที่จะผลักดันกฎหมาย ซึ่งเขาก็อาจบอกว่ากำลังทำอยู่โดยการเอาไปบูรณาการกับประกันสังคมมาตรา 40 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่คนที่อายุใกล้ 60 ปีที่จะเสียสิทธิ แต่คนที่อายุ 15 ปีก็สมัครไม่ได้ เงินที่ควรเริ่มออมก็ออมไม่ได้ ทำให้เงินบำนาญในอนาคตมันหายไป แล้วการทำทางเลือกที่ 3 ของมาตรา 40 ทำให้มันซ้ำซ้อน เดิมทีมันไม่ซ้ำซ้อนแต่มีคนทำให้ซ้ำซ้อนขึ้นมา"รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ ย้ำว่า การมีกองทุนหลายๆกองทุนจะทำให้เกิดการแข่งขันเปรียบเทียบกัน ไม่มีการผูกขาด อีกทั้งขอยืนยันเรื่องธรรมภิบาลเพราะแรงงานนอกระบบ 24 - 25 ล้านคน เงินออมจะเป็นเงินก้อนใหญ่ และการดูแลเงินขนาดนี้ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนโปร่งใส เปิดโอกาสให้เจ้าของเงินมีส่วนร่วม
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามขอเข้าพบนายกิตติรัตน์ พาเครือข่ายแรงงานนอกระบบไปหาที่กระทรวง 2 ครั้งก็ได้แต่เฝ้าหน้าลิฟต์ ไปดักพบก็ได้แต่คำยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรคือหน้า สมัครสมาชิกก็ไม่ได้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะฟ้องนายกิตติรัตน์ และจะใช้เวทีเสวนาของเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ บอกพี่น้องว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่าไปเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเขาไม่ยอมให้ออมเงิน ไม่ยอมเดินหน้ากอช.
"ไม่เข้าใจเหตุผลที่ไม่เดินหน้ากอช. ถ้าทำป่านนี้ได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำไปแล้ว แล้วจุดมุ่งหมายของกอช.กับประกันสังคมก็ไม่เกี่ยวกันเลย กฎหมายกว่าจะออกมาได้ฉบับหนึ่งมันเหนื่อยนะ แล้วออกมาเป็นกฎหมายที่ประชาชนดีใจ แต่มีคน 1-2 คน บอกว่ายังไม่เอา วางเอาไว้ก่อน จะยอมให้ผู้มีอำนาจทำอย่างนี้หรือ "น.ส.อรุณี กล่าว
นายตวง อันทะไชย รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานด้านนิติบัญญัติของวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายกอช.เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่ประกาศมาแล้วไม่ยอมบังคับใช้ กลายเป็นว่าความเห็นส่วนตัวของคนไม่กี่คนอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามีฉบับที่ 1 แล้ว ฉบับที่ 2 และ 3 และต่อๆไปจะตามมาอีก
"ลองคิดดูว่าถ้าเป็นแบบนี้มันจะยุ่งแค่ไหน"นายตวง กล่าวทิ้งท้าย
- 9 views