บอร์ด อภ. ตั้ง คกก.ไต่สวน หมอวิทิต เพิ่ม 3 ประเด็น ทั้งการจัดซื้อยาละลายลิ่มเลือดหัวใจ ยาโอเซลทามิเวียร์ และเครื่องวัดจอประสาทตา หลังพบการบริหารอาจทำให้ อภ.เกิดความเสียหายเพิ่ม พร้อมเผยตั้ง อธิบดี สบส. ประธาน คกก.ไต่สวนเรียกค่าเสียหาย หมอวิทิต

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงเลิกจ้างผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ อดีตรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ว่า จากการสอบข้อเท็จจริงและการสอบสวนทั้ง 3 กรณี ทั้งการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล การก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ล่าช้า ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอผลการสอบนี้ต่อบอร์ด อภ. และพิจารณาแล้วเห็นว่า ในความบกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลจำนวน 100 ตัน เป็นเหตุทำทำให้ อภ.เกิดความเสียหาย โดย บอร์ด อภ. ลงมติชัดเจนว่า เป็นความบกพร่องการปฏิบัติหน้าที่และทำให้เกิดความเสียหายของ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) ทำให้มีการเลิกจ้าง

ทางสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการสอบสวนเรื่องนี้คู่ขนาน โดยประเด็นที่ดีเอสไอได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อกับอดีต ผอ.อภ.และอดีตประธาน บอร์ด อภ.ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานระดับของรัฐ คือ ประเด็นการจัดซื้อยาพาราเซตามอลและการจัดจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญา 157 และการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง ทำให้ส่วนราชการเสียหาย ส่วนประเด็นความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทางดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ทาง ป.ป.ช.จะต้องทำการไต่สวนต่อ

ในกรณีที่ทำให้ อภ.เกิดความเสียหายจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนละเมิดพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากอดีต ผอ.อภ. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด อภ.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมาแล้ว โดยมี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธาน ประธานองค์การเภสัชกรรม กล่าว

กก.สอบเพิ่ม3ประเด็น

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานของ นพ.วิทิต ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม อีก 3 ประเด็น จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คือ 1.การจัดซื้อยาโคลพิโดเกรลหรือยาละลายลิ่มเลือดหัวใจ ซึ่งพบว่ามีการสั่งซื้อยานี้จากบริษัทยาต้นแบบในปี 2554 จำนวน 1 ล้านเม็ด ด้วยเม็ดเงิน 12 ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายออก และมีการเสนอแลกเปลี่ยนยาเนื่องจากยาใกล้หมดอายุที่เหลือเพียง 6 เดือน ทั้งยังพบการฉีกขาดของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขอคืนและแลกเปลี่ยนยากับบริษัทจำหน่าย ซึ่งอยู่ระหว่างดูว่าจะขอคืนได้หรือไม่ โดยเรื่องนี้มีมติของบอร์ดบริหารชัดเจนว่าให้จำหน่าย ซึ่งการตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดูว่า เรื่องนี้ นพ.วิทิตต้องรับผิดชอบเพียงใด และในกรณีไม่สามารถจำหน่ายยา 12 ล้านบาทนี้ออกไปได้จะทำอย่างไร

2. การจัดซื้อยาแก้หวัดโอเซลทามิเวียร์ ปี 2552 ซึ่งเป็นการสั่งซื้อมาในช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ วงเงิน 500 ล้านบาท ผลิตยาแก้หวัด 30 ล้านเม็ด แต่ยารายการนี้มีเพียงกรมควบคุมโรคเป็นผู้สั่งซื้อหน่วยงานเดียว ประมาณปีละ 1 ล้านเม็ด จึงกำลังดูเหตุผลความจำเป็นในการสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาถึง 30 ล้านเม็ดว่าเหมาะสมเพียงใด และกรณีเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ

และ 3. การจัดซื้อเครื่องตรวจจอประสาทตาและเครื่องวัดความดันตา ในช่วงที่ นพ.วิทิต เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ โดยเรื่องนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากมีการสั่งซื้อด้วยวิธีพิเศษจากบริษัทจำหน่ายโดยไม่ผ่านการประมูล และเมื่อผ่านระยะเวลาหนึ่งได้มีการส่งเครื่องกลับไปยังผู้จำหน่ายให้ช่วยจำหน่ายเครื่องแทน แถมมีการเปลี่ยนเครื่องให้สเปคสูงขึ้น แต่กลับมีการจำหน่ายเครื่องได้บางส่วน ซึ่งเมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว ปรากฏว่าบริษัทเอกชนรายดังกล่าวยังค้างชำระ โดยเครื่องตรวจจอประสาทตาบางส่วนที่ อภ.จัดซื้อได้สูญหายไป และเรื่องนี้มีการฟ้องร้องกันแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องปัญหาการบริการจัดการ เพราะการสั่งซื้อโดยวิธีพิเศษ การนำไปฝากขายกับบริษัทโดยไม่มีระเบียบ และเรื่องนี้ได้มีการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบแล้ว ผ่านมาถึงวันนี้ 2-3 ปี ยังไม่มีการสรุป

ชี้ไม่อยากขุดคุ้ยแต่จำเป็น

อภ.จัดซื้อเครื่องจอประสาทตา รุ่นแรก 4 เครื่อง ราคาเครื่องละ 750,000 บาท แต่สามารถจำหน่ายได้ 1 เครื่อง ที่เหลือ 3 เครื่องนำไปฝากขายกับทางบริษัทที่จัดซื้อมา แต่ต้องมีการเทิร์นเพื่อเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่กว่าที่ราคา 800,000 แสนบาท แต่ต้องจัดซื้อพร้อมกับเครื่องวัดความดันตา 200,000 บาท ทำให้ตกอยู่ราคาชุดละ 1 ล้านบาท โดยองค์การเภสัชกรรมได้จัดซื้อ 5 เครื่อง ซึ่งได้จำหน่ายให้กับสโมสรแห่งหนึ่ง 1 เครื่อง และ 3 เป็นการขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ แต่ติดระเบียบว่า อภ.ไม่สามารถจำหน่ายให้กับหน่วยงานรัฐได้ จึงต้องจำหน่ายผ่านบริษัทดังกล่าว แต่กลับมีการยักยอกไม่ส่งเงินให้ อภ.และอยู่ระหว่างฟ้องร้องอยู่ โดยขณะนี้อยู่ที่ อภ.เพียงเครื่องเดียว

ผมไม่อยากให้มีเสียงว่าบอร์ด อภ.ชุดนี้มาขุดคุ้ยอะไร แต่ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องตกค้างจากบอร์ดที่แล้ว และเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้น บอร์ดที่ผมเป็นประธานอยู่อาจถูกกล่าวหาว่าต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องไต่สวนเรื่องนี้ออกมา ซึ่งขออนุญาตเกริ่นนำว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังค้างอยู่ และอยู่ระหว่างการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอควร ประธานบอร์ด อภ. กล่าว

ซื้อยา30ล้านเม็ดได้แค่1ล้านเม็ด

ส่วนกรณีปัญหายาโคลพิโดเกรลจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือไม่ เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นหนึ่งในยาที่ทำซีแอล นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ไม่กระทบต่อผู้ป่วยแน่นอน เพราะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคและปัญหาการบริหาร ไม่เกี่ยวกับคุณภาพยา ซึ่งตอนนี้ต้องดุว่าเมื่อยาที่แลกเปลี่ยนมาจะจำหน่ายออกได้หรือไม่ ถ้าจำหน่ายได้ก็ไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้าจำหน่ายไม่ได้ก็จะเป็นประเด็นที่ต้องหาผู้รับผิดชอบอีก

ต่อข้อซักถามว่า ในการจัดซื้อยาโอเซลทามิเวียร์ 30 ล้านเม็ด ทั้งที่กรมควบคุมโรคมีการสั่งซื้อเพียงแค่ 1 ล้านเม็ด แสดงว่ามีการจัดซื้อที่เกิดจากความต้องหรือไม่ นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ยังไม่ตอบ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อไต่สวน เพียงแต่เราเห็นภาพว่า สั่งซื้อมา 30 ล้านเม็ดเพื่อเตรียมรับการระบาด แต่กลับมีการใช้แค่ 1 ล้านเม็ด จึงต้องดูว่าเหตุผลในการซื้อนั้นเหมาะสมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการประชุมชี้แจงฯ ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับฟังการชี้แจงด้วย แต่ไม่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับฟังการชี้แจงแต่อย่างใด มีเพียงแต่สื่อมวลชนที่มาร่วมรับฟังการชี้แจงครั้งนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 กรกฎาคม 2556