แรงงานคือรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ต่อให้การค้าการผลิตเฟื่องฟูอย่างไร แต่หากแรงงานไม่เพียงพอ ก็ยากที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมั่นคง
ประเทศไทยเองอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานมาหลายปี เนื่องด้วยโครงสร้างประชากรที่เกิดน้อยลงแต่ผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้กำลังแรงงานที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย ภาวะดีมานด์โอเวอร์ซัพพลายเช่นนี้ ทำให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้น งานระดับล่าง งานกุลีแบกหามใช้แรงกาย งานโรงงาน งานสกปรก งานเสี่ยงอันตรายทั้งหลาย จึงขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ประมาณ 2-3 แสนคน/ปี หรือ ไม่ถึง 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ไม่เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนวทางการจัดการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือต้องพัฒนาทักษะคนงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในอุตสาหกรรมประเภท Labour Intensive และงานระดับล่างอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะมาก ซึ่งแรงงานที่นิยมมากที่สุดหนีไม่พ้นแรงงานพม่า ลาวและกัมพูชา เพราะอยู่ติดประเทศไทย
ที่ผ่านมามีการนำเข้าแรงงานกลุ่มนี้มีทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย กลายเป็นต้นทางของปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาความมั่นคง โดยรัฐบาลไทยพยายามจัดระบบผลักดันแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายให้มาขึ้นทะเบียน และพัฒนาสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายต่อไป
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน เดือน เม.ย. ระบุว่า มีแรงงานทั้ง 3 ประเทศที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 963,243 คน แบ่งเป็นสัญชาติพม่า 847,475 คน ลาว 30,939 คน และกัมพูชา 84,829 คน และยังมีแรงงานที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศและต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอีก 190,657 คน แบ่งเป็นพม่า 63,768 คน ลาว 39,704 คน กัมพูชา 64,409 คน และชนกลุ่มน้อยอีก 22,776 คน
ขณะที่ สำนักเศรษฐกิจการแรงงานยังให้ข้อมูลด้วยว่า อัตราการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ 2.90% หมายถึง ผู้มีงานทำทุก ๆ 100 คน จะมีการจ้างแรงงานต่างด้าว 3 - 4 คน และในจำนวน 2.90% นี้ เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชาถึง 2.55%
แรงงานต่างด้าวกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนประเทศ และแนวโน้มนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะยังมีต่ออีกเรื่อยๆ เพราะนอกจากการเติบโตตามปกติของธุรกิจแล้ว ระยะเวลาอันใกล้นี้รัฐมีโครงการบริหารจัดการระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาทระยะเวลา 5 ปี และแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
ปริมาณแรงงานต่างด้าวที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไทยต้องจัดระบบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับการทำงานของคนกลุ่มนี้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 แรงงานที่เข้าเมืองและได้ใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย จะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้สิทธิสวัสดิการต่างๆเทียบเท่าแรงงานไทย
แม้ในหลักการจะดี แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานต่างด้าวยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกมาก เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานต่อเพื่อรอพิสูจน์สัญชาติ ตลอดจนผู้ติดตามหรือครอบครัว คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสวัสดิการในรูปของประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยให้ซื้อประกันในราคาปีละ 1,900 บาท เพื่อรับสิทธิในการเข้ารับบริการตรวจและรักษาสุขภาพ โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพรวมทั้งหมด 72,234 คน
รายงานของ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า บทเรียนจากการทำงานของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ และองค์กรที่รับทุนจากกองทุนโลก (Global Fund) พบว่า การให้บริการด้านสาธารณสุขสำหรับคนกลุ่มนี้ ยังมีปัญหาทั้งระดับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และระดับนโยบาย
ปัญหาระดับผู้รับบริการ พบว่า 1.แรงงานข้ามชาติยังไปใช้บริการค่อนข้างต่ำ ซึ่งมาจากปัญหาอุปสรรคในการเข้ารับบริการ เช่น ความไม่สะดวกในการเดินทางเพราะต้องมีนายจ้างพาไป ต้องใช้เวลารอคอยนานทำให้ขาดรายได้ สื่อสารกับแพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ และล่ามมีจำนวนจำกัด รวมถึงการถูกคุกคามและจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ
2.แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อป่วยหนักมากแล้ว ทำให้หน่วยบริการสุขภาพมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง
ขณะที่ ปัญหาจากผู้ให้บริการ พบว่าเป็นปัญหาด้านทัศนคติของผู้ให้บริการอันเนื่องมาจาก ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
และปัญหาระดับนโยบาย พบว่า ระบบประกันสุขภาพนี้ยังไม่ครอบคลุมการรักษาโรคเอดส์ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสได้รับยาต้านไวรัส และโรคติดต่อบางโรค รวมถึงยังไม่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไตและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 ก็ยังมีปัญหาเช่นกัน เพราะโครงสร้างสวัสดิการประกันสังคมมาตรา 33 ถูกออกแบบมาสำหรับแรงงานที่ต้องได้รับการคุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชราภาพหรือหลังเกษียณอายุ แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยและทำงานได้เพียง 4 ปีแล้วต้องกลับไปประเทศต้นทาง ส่งผลให้เข้าไม่ถึงถึงสิทธิหลายสิทธิ
บุษยรัตน์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง พบปัญหาการรับสวัสดิการตามมาตรา 33 ถึง 4 เรื่อง ได้แก่ กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีว่างงาน กรณีชราภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.สิทธิประโยชน์เรื่องคลอดบุตร สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุไว้ว่า ผู้ประกันตนที่จะสามารถใช้สิทธินี้ได้ต้องมีเอกสารแสดงตนประเภทใดประเภทหนึ่งใน 3 ประเภทนี้ คือ ทะเบียนสมรสไทย หรือ หนังสือรับรองบุตร หรือใบคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานข้ามชาติย่อมประสบปัญหาในการมีใบยืนยันดังกล่าวจากประเทศต้นทางอย่างแน่นอน
2.สิทธิประโยชน์การรับเงินสงเคราะห์บุตร สปส.กำหนดให้บุตรผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จนถึงอายุ 6 ปี แต่แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุดแค่ 4 ปีเท่านั้น เมื่อต้องกลับประเทศต้นทาง แรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่องอีกได้หรือไม่?
3.สิทธิกรณีชราภาพ เนื่องจากแรงงานที่จะได้รับบำนาญชราภาพต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี อายุขั้นต่ำ 55 ปีและออกจากงาน แต่เนื่องจากแรงงานข้ามชาติทำงานได้แค่ 4 ปี ทำให้ได้เพียงบำเหน็จชราภาพเท่านั้น
4.สิทธิการรับเงินชดเชยว่างงาน เพราะตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 ระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือมิฉะนั้นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7 - 15 วัน ดังนั้นหากแรงงานไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ใน 15 วัน และถูกส่งกลับแรงงานจะเข้าถึงเงินทดแทนการขาดรายได้อย่างไร? หรือเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน 4 ปีแล้วก็ต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ยิ่งไม่มีทางใช้สิทธิประโยชน์นี้เหมือนแรงงานไทยได้
นอกจากปัญหาโครงสร้างสิทธิประโยชน์แล้ว ยังมีปัญหาระดับนโยบาย เช่น แรงงานข้ามชาติมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง อาทิ ก่อสร้าง ประมงทะเล หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสสารเคมีสูง โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงได้ตลอดเวลา แต่เกณฑ์ประกันสังคมนั้นแรงงานข้ามชาติต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลได้ ระหว่าง 3 เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องซื้อหลักประกันสุขภาพชั่วคราวคน 1,047 บาทแทน ถือได้ว่ายิ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ที่สำคัญ กฎหมายประกันสังคมไม่ได้บังคับรวมไปถึงลูกจ้างบางกลุ่ม เช่น คนทำงานบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพที่แรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากทำงานอยู่ด้วย ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าระบบประกันสังคมไม่ได้ ต้องไปซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแทน
ข้อจำกัดข้างต้น ทำให้ตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือน ต.ค. ปี 2555 มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 217,972 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สปส.เอง ก็พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้เช่นกัน โดยจากผลการศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติกับการได้รับความคุ้มครองสิทธิประกันสังคม ของ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มีการเสนอให้ยกเว้นสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สงเคราะห์บุตรและเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีคลอดบุตร และตั้งกองทุนประกันสังคมเฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่การศึกษารายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้และเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาต่อไป
ก็คงต้องจับตาดูว่ารูปแบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวจะออกมาอย่างไร หากทำได้จริงก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
- 306 views