ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"นายกสมาคมจารวีฯ"  ยื่นหนังสือถึง "รมว.สมศักดิ์" วอนช่วยตรวจสอบ "หมอนวดเถื่อนต่างด้าว" แย่งอาชีพคนไทย พบกรุงเทพฯ มี 50,000 กว่าคน แนะหากพบมีการฝ่าฝืนต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจัง พร้อมเสนอปรับการขึ้นทะเบียน สพส.14 ใหม่ 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. ที่ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวี เพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  เพื่อให้ตรวจสอบหมอนวดเถื่อนต่างชาติ ที่เข้ามาลักลอบประกอบอาชีพหมอนวด แย่งอาชีพคนไทยที่มีความรู้ มีวิชา และมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบอย่างเข้มงวด จึงทำให้หมอนวด และคนตกงานที่จะมาเรียนเป็นหมอนวด ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนพ.ทวีสิน วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้บริหารกรมฯ เข้าร่วม 

นายพิทักษ์ กล่าวว่า คนที่มาทำอาชีพนี้ส่วนมากเป็นคนจน คนอีสาน ตนไม่อยากให้คนไทยโดนเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ยังมีประเด็นแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานร้านนวด เยอะมาก ซึ่งตนไม่ทราบว่าทาง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ออกใบ สพส.14 ให้หรือไม่ แรงงานกลุ่มนี้ทำไมถึงยังทำงานนวดได้ ซึ่งในกรุงเทพฯ มี 50,000 กว่าคน เพราะคนจนหรือคนไทยที่ตกงานมาทำงานนี้ต้องมีเงื่อนไข แต่ต่างชาติกลับทำงานได้อย่างสบาย เป็นไปได้หรือไม่ที่ สบส. มาแก้กฎหมายนี้ ยกตัวอย่างเช่น อเมริกาถ้าคนไทยต้องไปทำงานนวดต้องมีสอบ ต้องมีการเสียภาษี ดังนั้นไม่อยากให้มีสองมาตรฐาน 

ทางสมาคมฯ ตระหนักดีว่า ใบ สพส.14 เป็นใบรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสถานประกอบการเพื่อสูขภาพ เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพและมาตรฐานของผู้ให้บริการ ต้องมีความรู้ความชำนาญผ่านการเรียนมาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในสถาบันที่มีมาตรฐานแต่ขั้นตอนในการออกใบ สพส.14 เป็นไปด้วยความยุ่งยากไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพ จึงอยากขอให้ทำการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้

อีกทั้งแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาประกอบอาชีพนวดซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามของชาวต่างชาติสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น ต้องการให้ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินหน้าตรวจสอบหากพบมีการฝ่าฝืนต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่สามารถปราบปรามได้ควรผลักดันแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ให้ถูกกฎหมายและมีการเรียกเก็บภาษีคืนให้กับประเทศด้วย ร้านนวดที่มีแรงงานต่างด้าวอาจจะต้องมีการกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานแรงงานไทยต่อคนต่างด้าวไว้ที่ 3/1 หมายความว่าร้านนวดจะต้องจ้างงานคนไทย 1 คนต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 คน เป็นต้นรวมทั้งร้านนวดที่มีเจ้าของเป็นคนต่างชาติควรจะมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยร่วมด้วยและเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมายพร้อมทั้งมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้มีเสนอว่า 1. ขอความเห็นใจไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ช่องทางเรียกเก็บเงินจากหมอนวดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สพส.14 เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ตกงานจากโรงงานและเปลี่ยนมาประกอบอาชีพนี้   2. เปิดช่องร้องเรียนให้หมอนวดสามารถเข้ามาชี้แจงปัญหาที่ประสบอยู่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไข 3. ต้องการยกระดับการนวดไทยเป็น Soft Power ให้คนไทยและต่างชาติมีความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของนวดไทยในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมเพราะในต่างประเทศทั่วโลกใช้คำว่า Thai message  กันอย่างแพร่หลายซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้อาชีพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในบางช่วงว่า การขึ้นทะเบียน สพส.14 มีความจำเป็นเพราะจะทำให้มีราคาแพง นอกจากนี้การที่จะทำให้หมอนวดไทยเป็น Soft Power นั้น มองว่าเรื่องการขายบริการไม่ควรเอามารวมกัน อย่างเช่น ถ้าตั้งใจไปนวดแล้วที่นั่นเปิดขายบริการอาจจะทำให้เสียไปเลย บางคนอาจพาครอบครัวมาด้วยก็จะไม่กล้าเข้า ผู้ประกอบสถานบริการควรตระหนักเรื่องนี้ ตนไม่ได้อยากห้ามเพราะถ้าห้ามธุรกิจไปไม่ได้ 

“เรื่องนี้อยากให้ช่วยกันดู เพราะรัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องการนวดอยู่แล้ว มีการผลักดันเรื่อง "เมดิคัล ฮับ" ซึ่งเราพบว่าในปีหนึ่งคนไทยป่วยเข้าโรงพยาบาลกว่า 300 ล้านครั้ง 1 คนเข้าหลายครั้ง อย่างอาการปวดต่างๆ ถ้าเป็นไม่มากเขาก็ไม่เข้าโรงพยาบาล แต่ไปตามร้านนวดต่างๆ หากทำดีเชื่อว่าจะได้เงินอีกมาก ดังนั้นเราต้องช่วยกันทำเรื่องของข้อมูล และมาตรฐาน ผมให้เวลาทำสัก 2 เดือนเสร็จ ก่อนปีงบประมาณใหม่ เพราะผมมาอยู่ที่นี่ 3 เดือนแล้ว อยากเห็นเพื่อจะได้เดินหน้าต่อในการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ทวีสิน วิษณุโยธิน กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องนั้นตรงกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการผลักดันให้การนวดไทยเป็น Soft Power อย่างไรก็ตามมองว่าต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการนวด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย กับการนวดรักษา สำหรับการนวดเพื่อผ่อนคลายมี 2 หลักสูตรคือ 60-150 ชม. ในส่วนของการนวดรักษาจะเป็นระดับขั้นเทพ ซึ่งตรงนี้แรงจูงในต้องอยู่ที่ค่าตอบแทนด้วย  และมีการขึ้นทะเบียนให้ชัดเจนแบ่งความเชี่ยวชาญในการรักษาอาการใดบ้าง และมีการกำหนดกรอบอัตราค่านวดแผนไทย ขณะนี้มีคนที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วประมาณ 2 แสนคน แต่ฝึกงานเท่าไหร่ไม่รู้ โจทย์ที่ได้รับคือต้องเติมหมอนวด 4 หมื่นคนต่อปี