รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ
โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการให้บริการรักษาผู้ป่วยในระดับ 'ตติยภูมิ' สอดคล้องกับพันธกิจหลัก 3 ประการของทางคณะทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการรักษาผู้ป่วย สำหรับใครที่อยากรู้ว่า รพ. รามาฯ จะเติบโตไปในทิศทางใด ตามไปฟังบทสัมภาษณ์ของ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี
บทบาทของ รพ.รามาฯ
รามาธิบดีมีแนวคิดในการผลักดันศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่อลงรายละเอียดในการรักษาโรคแต่ละประเภทให้ชัดเจนและเป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคณะแพทย์รามาฯ ที่เน้นการรักษา ผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ที่ได้รวบรวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดตั้งห้องแล็ปเฉพาะทางอย่าง ธนาคารเนื้อเยื่อขึ้นมาเพื่อเสริมศักยภาพของการรักษาโรคประเภทนั้นๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับความซับซ้อนของโรคที่อาจมีมากขึ้นในอนาคต
ระบบส่งต่อผู้ป่วย 'ตติยภูมิ'
การมุ่งเน้นรักษาคนไข้ในระดับตติยภูมินั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ที่สอดคล้องกัน ทั้งในเรื่องบุคลากร สถานที่ องค์ความรู้ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเราไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการรักษาเพราะการบริการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศได้ จึงต้องส่งเสริมงานวิจัยควบคู่กันไป เพื่อให้การรักษาและการป้องกันสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในที่นี้หมายรวมไปถึงการสร้างคนเพื่อกระจายเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เมื่อสถานพยาบาล บุคลากร และเครื่องมือกระจายอย่างทั่วถึง การส่งต่อคนไข้ก็จะทำได้อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถที่แต่ละ โรงพยาบาลรองรับได้
ปัญหาการบริการ
ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีข้อดีตรงที่ทุกคนสามารถใช้บริการด้านสาธารณสุขได้โดยมีสิทธิรองรับชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น สปสช. หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคมสำหรับพนักงานเอกชน รวมถึงสิทธิสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสถานพยาบาลต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศยังไม่สามารถวางระบบการคัดกรองคนไข้ได้อย่างเหมาะสม ทำให้โรงพยาบาลระดับ 'ตติยภูมิ' อย่างรามาฯ มีปัญหากลายเป็นคอขวดเพราะคนไข้ถูกส่งต่อมามากจนเกินไป เมื่อมีคนไข้มากคุณภาพการบริการย่อมลดลง อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยเป็นความเคยชินที่มี มานาน เนื่องจากเดิมทีแพทย์ทุกคนต่างมีอิสระในการส่งต่อ คนไข้และมักเลือกโรงพยาบาลที่ตนเองคุ้นเคยหรือจบการศึกษามา ดังนั้นการแก้ไขระบบดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาพอสมควร
การบริหาร...งานบริการ
เมื่อคนไข้ถูกส่งมายังรามาธิบดีแล้ว เราต้องรับไว้และไม่เคยปฏิเสธ โดยพยายามบริหารจัดการตามดำริของกระทรวงสาธารณสุขที่มอบหมายให้เราเป็นศูนย์ประสานการส่งต่อ ด้วยการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึง การจัดทำเวชระเบียนออนไลน์และทำการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อลดปัญหาการนัดหมายคลาดเคลื่อน การมารอพบคุณหมอ เป็นเวลานานๆ รวมถึงการมาหาคุณหมอแล้วไม่พบ ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดปัญหาด้านการบริการของ รพ. รามาฯ ประชาชนเองก็ไม่ต้องเสียเวลามากจนเกินไป
การจัดตั้งหน่วยงานย่อย
เนื่องจากคณะแพทย์รามาฯ เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ มีบุคลากรถึง 8,000 คน บวกกับการบริการที่ค่อนข้าง ซับซ้อนในหลายแขนง คณะบริหารจึงมีนโยบายในการแบ่งแยกการบริการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ ขึ้นมาเพื่อรักษาผู้ป่วยนอกและเพื่อเป็นหอผู้ป่วยให้บริการพิเศษ เพราะปัจจุบันคณะแพทย์รามาฯ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภายใต้กำกับรัฐ ทำให้เงินสนับสนุนที่ได้ จากรัฐนั้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ดังนั้นทางคณะฯ จึงจำเป็นต้องหารายได้จากการบริการประชาชนที่มีกำลังจ่าย เพื่อนำเงินมาสนับสนุนคณะแพทย์และสานต่อพันธกิจหลักอีก 2 ประการทั้งในด้านการศึกษาและการวิจัย ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ก็เป็นอีกหนึ่งในหน่วยงานย่อยที่ มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะ ขณะเดียวกันในปี 2559-2560 ทางรามาฯ จะมีการจัดตั้งสถาบันจักรีนฤบดินทร์ ขึ้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อพัฒนาการศึกษาในส่วนของนักเรียนแพทย์และพยาบาลในระดับปริญญาตรี พร้อมกันนั้นยังมีการให้บริการรักษาคนไข้ในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ เริ่มต้นรองรับคนไข้จำนวน 100 เตียง และ จะขยายไปถึง 400 เตียงในอนาคตอันใกล้
การปรับปรุงครั้งใหญ่
รพ.รามาฯ ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลานานเกือบ 45 ปี จึงถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงกายภาพ เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของคนไข้ เริ่มตั้งแต่อาคาร 1 อาคาร 4 และอาคาร 3 รวมถึงการเพิ่มเติมอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นเพราะเทคโนโลยีก็ถือเป็น สิ่งสำคัญในการรักษาพยาบาลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะใช้เวลาในการปรับปรุงทั้งสิ้นราว 2 ปี อย่างไรก็ตามประชาชนไม่ต้องกังวลเนื่องจากทาง รพ.รามาฯ ได้วางแผนการปรับปรุงโครงสร้างโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยจะพยายามรักษาจุดบริการเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แต่อาจจะติดขัดในเรื่องของความสะดวกเนื่องจากจำเป็นต้องโยกย้ายหน่วยบริการบางจุดไปยังส่วนอื่นๆ ของ โรงพยาบาลอย่างศูนย์สมเด็จพระเทพฯ คาดว่าในอีก 3 เดือนจะแล้วเสร็จในเฟสแรก ต่อจากนั้นจะขยับไปยังอาคาร 3 รวมถึงการปรับปรุงหอผู้ป่วยเดิมที่มีสภาพ ทรุดโทรม ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงครั้งนี้ โครงสร้างโดยรวมจะมีมาตรฐาน สะอาดและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้งานวิจัยและการบริการสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะที่ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลสู่ระดับสากล
เงินทุนสาหรับการพัฒนา
งบประมาณที่ต้องใช้สำหรับการปรับปรุงครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ในการรักษาคนไข้ที่มีกำลังจ่าย ร่วมกับเงินสนับสนุนบางส่วนจากทางรัฐบาล รวมถึงเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาผ่านมูลนิธิรามาธิบดี ผมจึงอยากฝากไปถึงกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านมอบให้แก่มูลนิธิฯ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยการสนับสนุนทั้ง 3 พันธกิจของรามาฯ มากไปกว่านั้นยังนำมาซึ่งคุณภาพการบริการที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลไปถึงตัวท่านเองและประชาชนทั่วประเทศ
สาหรับประชาชนท่านใดที่อยากมีส่วนสนับสนุนโรงพยาบาลรามาธิบดี เสาหลักด้านการสาธารณสุขของประเทศ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ramafoundation.or.th
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 - 3 ก.ค. 2556
- 781 views