ถือเป็นการเลื่อนรอบที่ 3 ของ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) ในการพิจารณาสำนวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่า 911,784,000 ล้านบาท สมัยที่ "คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุ ราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข
สาเหตุเกิดจากมีกรรมการ ป.ป.ช.ท่านหนึ่งป่วยกะทันหัน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องเลื่อนการพิจารณาสำนวนนี้ออกไปเป็นวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
ก่อนหน้านี้ "คุณหญิงหน่อย" ได้ออกมาชี้แจงตัดหน้า ป.ป.ช.ก่อน 2 รอบ คือ วันที่ 22 มิถุนายน และวันที่ 23 มิถุนายน
โดย "คุณหญิงหน่อย" ชี้แจงว่า โครงการนี้ได้ยกเลิกการจัดซื้อไปแล้วจึงไม่ได้ซื้อคอมพิวเตอร์แม้แต่เครื่องเดียว และคืนเงินงบประมาณทั้งหมดให้กระทรวงการคลังเดือนมกราคม พ.ศ.2549
แต่หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ได้ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาว่า "ดำเนินการ ยกเลิกการประกวดราคามิชอบ" และบริษัทที่เข้าร่วมประมูลได้ฟ้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองได้พิพากษาว่าการยกเลิกการประกวดราคาโครงการนี้ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ แต่ ป.ป.ช.ยังไม่ยอมยุติเรื่องจนถึงปัจจุบัน
ซึ่ง "คุณหญิงหน่อย" มองว่า เรื่องนี้ก็น่าจะจบ "ป.ป.ช." ไม่ควรดำเนินคดีต่อ? แต่มีคำถามชวนให้ติดตามต่อว่า "หากไม่จัดซื้อประเทศชาติเสียประโยชน์หรือไม่"?
เพราะโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อเพื่อติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงินการคลัง และข้อมูลโรงพยาบาลจำนวน 818 แห่งทั่วประเทศเมื่อไม่จัดซื้ออย่างน้อยจะส่งผลกระทบกับ "การพัฒนาข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน การคลัง
และข้อมูลโรงพยาบาลหรือไม่ การยื่นเรื่องต่อ "ป.ป.ช." เพื่อฟ้อร้องคดีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ไม่ใช่มีเฉพาะ "คุณหญิง สุดารัตน์" เท่านั้น ยังมีข้าราชการประจำรวม อยู่ด้วย
และการยกเลิกโครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจาก "นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล" เข้ามารับตำแหน่งเป็น "รมว.สาธารณสุข"
หลายคนสงสัยที่มาที่ไปของโครงการนี้ ทำไมจึงเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นจนกลายเป็นศึกระหว่าง "ข้าราชการกับนักการเมือง" ที่สำคัญในโครงการนี้ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง "พี่น้องของข้าราชการ" ในกระทรวงสาธารณสุข คำว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน"ใช้ไม่ได้ในกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ต่างชิงทำผลงานหวังให้เข้าตา "ผู้ใหญ่" ความเป็น "เพื่อน" ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ มาจนกระทั่ง "รุ่นลูก" ถูกตัดขาดจากกัน เพราะโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุขในครั้งนั้น
ส่วน "ปัจจัยสำคัญ" ที่นำพาให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องถูกตัดขาดให้ดู "สถานะปัจจุบัน" ของแต่ละคนที่ถูกดึงเกี่ยวข้องกับโครงการมี "สถานะ" เป็นอย่างไร ในส่วนของคดีเมื่อเรื่องถูกส่งมาถึงมือ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ พิจารณาสำนวนเพื่อมีมติว่า ผู้ถูกร้อง มีความผิดจริงหรือไม่
สำหรับกระบวนการลงมติใช้เสียงข้างมากจากกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมด 9 คน หากตัดสินมีความผิด ก็นำสำนวนส่งต่ออัยการ หากอัยการไม่เห็นด้วยกับสำนวนก็จะตั้งกรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการ เพื่อทำสำนวนเพิ่มเติม ก่อนมีมติยื่นฟ้องต่อไป
โดยแยกสำนวนเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "ข้าราชการ" จะยื่นฟ้องผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรม
ขณะที่ "นักการเมือง" จะยื่นต่อ "ศาลอาญาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
คดีความในส่วนของข้าราชการยังมีเวลาต่อสู้ 3 ศาล แต่สำหรับ "นักการเมือง" ซึ่ง ถูกยกฐานะไว้เหนือกว่า "ข้าราชการ" การพิจารณาคดีความจบเร็วกว่าเป็นการพิจารณาเพียง ศาลเดียว ซึ่งทำให้นักการเมืองหลายคนไม่ เห็นด้วย
แต่หลักการพิจารณาตัดสินคดีขึ้นอยู่กับ "ดุลพินิจของศาล" หากไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนโทษจำคุกก็อาจได้ลดหย่อน แต่โทษตัดสิทธิทางการเมืองก็คงไว้
สำหรับคดีนี้ความผิดเข้าข่าย "มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ"
ส่วนคดีนี้จะจบอย่างไรหลังจาก "คุณหญิงหน่อย" ชี้แจงว่า "ยกเลิกโครงการ คืนเงินทั้งหมด ชาติไม่เสียหาย" ให้ฟังคำตัดสินของ "ป.ป.ช."
ที่มา: www.komchadluek.net
- 23 views