"แพทย์ชนบท" พอใจ สธ.เดินตามเกมเรื่องค่าตอบแทน แม้หงุดหงิดไม่ตั้งสหภาพ อภ.เป็นกรรมการด้วย "หมอเกรียง" ยันต้องใช้ PQO แทน P4P พร้อมกันนี้ สธ.ต้องหาเงินเพิ่มอีก 500 ล้าน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
ได้มีการประชุมบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเจ้าภาพเชิญประชุม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า เรามีข้อเรียกร้องอยู่ 3 ข้อ 1.เรื่องหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ที่ต้องแยกบทบาทผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน ประเด็นนี้เราได้รับความพึงพอใจหมดแล้ว 2.เรื่องตั้งคณะกรรมการตรวจ สอบประเด็นเคลือบแคลงสงสัยการตรวจสอบในองค์การเภสัชกรรม ที่ยังไม่พอใจที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ไม่เห็นชอบในการที่จะให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. เข้ามาเป็นกรรมการซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่ได้เจรจากันมา ดังนั้นคงต้องมีการหารือกันอีกรอบหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไร และ 3.ให้มีการออกประกาศฉบับชด เชยเยียวยาให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพราะฉะนั้นหากไม่เสร็จคงต้องมากำหนดท่าทีกันอีก
ส่วนในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือพีฟอร์พี วันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าแพทย์ชนบทยินดีที่จะมาร่วมทำในรูปแบบของโรงพยาบาลชุมชน โดยเปลี่ยนชื่อจากพีฟอร์พี เป็นพีฟอร์คิว หรือการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามคุณภาพงาน โดยต้องมีการคุยกันในรายละเอียด เช่น เมื่อทำออกมาแล้วเม็ดเงินจะเอาจากที่ไหน กำหนดวงเงินจะคิดอย่างไร คงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้แบบเดิมแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องออกแบบรูปแบบใหม่ และไม่จำเป็นต้องคงรูปแบบเดิม คงเป็นรูปแบบที่ใช้กับกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์นี้ต้องมีการเคลียร์กันชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องผูกมัด ซึ่งจากนี้ต้องหาเงินเพิ่มประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับวิชาชีพอื่นๆ
"หลักการไม่ใช่ลดเงินของวิชาชีพหนึ่งเพื่อไปเพิ่มให้กับวิชาชีพหนึ่ง ซึ่งแพทย์ ทันตแพทย์ยังไงก็ถูปปรับลดลงจากการปรับพื้นที่จำนวน 211 แห่ง" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประ ธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การชุมนุมของเราวันนี้จะไม่มีการเคลื่อนขบวนไปที่ไหน เนื่องจาก ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามารับฟังข้อเรียกร้องแล้ว ส่วนเรื่องที่จะปลดป้ายข้อความคัดค้านพีฟอร์พีในโรงพยาบาลต่างๆ นั้นยังไม่ปลดลงตอนนี้ จะปลดก็ต่อเมื่อเห็นคำสั่งชดเชยเยียวยาที่ลงนามโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างเป็นทาง การก่อน โดยตัวแทนแพทย์ชนบทที่อยู่ในคณะกรรมการชุดย่อยที่มาพิจารณาหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากพีฟอร์พีได้หารือกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) จะนำเสนอในที่ประชุมเพื่อให้กระบวนการเยียวยาเดินหน้าได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิถุนายน 2556
- 1 view