ว่าด้วยเรื่องนโยบายการเงินค่าตอบแทนตามภาระงานหรือเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ P4P ที่เป็นชนวนเหตุของการเปิดศึกเสื้อกาวระหว่างแพทย์ชนบท กับฝั่งผู้กุมนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี ยันกลางปีก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และดูท่าว่าจะยังไม่จบง่ายๆ
H focus สัมภาษณ์ความคิดเห็นทั้งฝั่งต้าน P4P โดยแกนนำฝ่ายบุ๋นคนสำคัญ อย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท และฝ่ายหนุนที่เป็นหัวขบวนผลักดัน P4P อย่างสุดลิ่ม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ที่แม้จะมีแรงต้านจากฝั่งแพทย์ชนบทที่สวมชุดดำไล่เจ้ากระทรวงทั่วประเทศ แต่เจ้าตัวก็ยังไม่ถอดใจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
“เอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4, 6 คืนมา และปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับวิชาชีพพยาบาล เภสัชพยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ เพราะว่าระเบียบเดิมนั้นเขาได้น้อยไป ส่วนฉบับ 9 เป็นเรื่อง P4P เรายืนยันว่าต้องเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่บังคับทำ อาจจะมีการร่าง P4P ใหม่ที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลชุมชน แต่คงขอเรียกชื่ออื่น เพราะชื่อ P4P มันแสลง”
นพ.สุภัทร ผู้อำนวยการประจำโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา อีกหนึ่งแกนนำคนสำคัญของฝั่งแพทย์ชนบทได้ออกมาพูดอีกครั้งถึงความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าชนกับผู้บริหารเพื่อต้านนโยบายนี้อย่างเต็มสูบว่า
“เดิมเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายซึ่งมีมาตั้ง 30 ปีแล้วเพื่อจูงใจให้แพทย์และวิชาชีพอื่นๆ อยู่ในชนบท ต่อมาเมื่อปี 2551 ก็มีการปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งสำคัญ ส่งผลให้อัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10,000 -50,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอายุการทำงาน และชัดเจนว่าเพียง 4 ปีก็ส่งผลให้จำนวนแพทย์ในชนบทเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,000 คนเศษๆ มาเป็น 4,000 คน แพทย์เฉพาะทางก็เพิ่มขึ้นจาก 200 กว่าคนเป็น 700 คนเศษๆ
แต่ในปีนี้ โดยการนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นระบบ P4P คือทำงานแลกเงิน เก็บแต้มแลกเงิน การเก็บแต้มแลกเงินฟังดูก็เหมือนจะดูดี เพราะว่าคนทำงานมากได้มาก ทำงานน้อยได้น้อย แต่ว่าเมื่อเอามาใช้กับโรงพยาบาลชุมชนจะมีปัญหา ไม่ใช่ว่าเราทำแต้มไม่เก่ง แต้มเราก็เยอะเพราะงานเราเยอะ แต่ปัญหาอย่างแรกคือไม่จูงใจให้แพทย์และวิชาชีพอื่นทำงานในชนบท เพราะว่าจะเก็บแต้มที่โรงพยาบาลชนบทซึ่งอยู่ห่างไกล หรือเก็บแต้มในโรงพยาบาลในเมืองก็ได้แต้มเหมือนกัน เอาแต้มนั้นไปแลกเงินได้เหมือนกัน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเก็บแต้มไม่ต้องอยู่ในชนบทก็ได้
ส่วนที่ 2 คือการเก็บแต้มแบบรายบุคคล หยุมหยิม เก็บทุกอย่าง ซึ่งพยาบาลเช็ดตัว วัดไข้ วัดความดันก็เก็บ หมอตรวจคนไข้ เย็บแผล 5 เข็ม ไปให้คำแนะนำให้คำปรึกษาผู้ป่วยก็เก็บ คนงาน คนทำความสะอาดถูพื้น ล้างส้วม เปิดหน้าต่าง ปิดประตูก็เก็บ นี่เป็นเรื่องตลกมาก มันทำให้คุณค่าของงานที่เราทำเปลี่ยนไป แทนที่จิตใจจะจดจ่อกับคุณค่าของวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย กลายมาเป็นจดจ่ออยู่ที่การเก็บแต้ม อยู่ที่คะแนน และจดจ่ออยู่ที่จำนวนเงินที่จะแลกกลับมา ซึ่งจะเสียอุดมการณ์การทำหน้าที่ของวิชาชีพด้านสุขภาพไป ที่สำคัญยังทำลายความเป็นทีมด้วย เช่น กรณีคนไข้อาการหนักมา คนหนึ่งช่วยเย็บแผล คนหนึ่งช่วยห้ามเลือด อีกคนหนึ่งช่วยปั๊มหัวใจ พอต้องมาเก็บแต้มมันจะมีความวุ่นวายว่าคนไข้คนนี้เป็นแต้มของใคร ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น
วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ที่รัฐมนตรีซึ่งเคยอยู่บริษัททำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน วันนี้ตอกเก้าอี้ได้กี่ตัว ขันน็อตได้กี่ตัว เป็นวิธีคิดแบบโรงงาน พอเอามาใช้กับระบบสาธารณสุขมันไม่ใช่ก็เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง และมีการประท้วงมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือเรื่องที่ว่าด้วย P4P และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
แพทย์ชนบทเคลื่อนไหวเรื่องไม่เอา P4P ก่อนที่จะมีมติครม. (มติครม.เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2556) มีการพูดคุยสะท้อนการไม่เห็นด้วยมาร่วมเดือน แต่ว่ารัฐมนตรีฯ ก็ยังดื้อเอามติครม.มาบังคับ แต่เราก็ยังไม่ทำอยู่ดี เพราะคิดว่าเป็นมติที่ไม่ชอบธรรม การที่ไม่ทำ P4P นั้นคนที่เดือดร้อนคือเราเพราะได้เงินน้อยลงจากการที่ไม่มีแต้มไปแลกเงิน แต่คนไข้ไม่ได้รับการดูแลที่น้อยลงเลย เรายังดูแลคนไข้เหมือนเดิม คนไข้ไม่เกี่ยว ส่วนโรงพยาบาลหรือหลวงก็ไม่ได้เสียประโยชน์เพราะว่าเงินไม่ถูกจ่าย เพราะฉะนั้นการค้าน P4P ถึงอย่างไรก็ไม่ทำให้ใครเสียประโยชน์นอกจากตัวเราเอง
ค้านไปค้านมาก็ไม่มีแววจะสำเร็จ เลยคิดว่าต้นเหตุไม่น่าจะอยู่ที่ “เรื่องเหตุเรื่องผล” ก็เลยคิดว่าต้องจัดการต้นเหตุคือรัฐมนตรีฯ จึงเป็นที่มาของการไล่รัฐมนตรีที่ดื้อ ไม่ฟังเสียงผู้ปฏิบัติงาน และไม่ใช่ว่ามีเพียงไม่กี่โรงพยาบาลที่สะท้อน แต่เป็นโรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศพร้อมใจกันส่งเสียงซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
การต่อสู้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแพทย์ชนบทประกาศชุมนุม พร้อมตั้งเต้นท์ให้บริการผู้ป่วยหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ก่อนจะนำมาซึ่งการเจรจาเมื่อวันที่ 4 และ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมข้อเรียกร้องให้นำระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 กลับมาใช้ ให้ยกเลิก P4P และให้ปลดนพ.ประดิษฐ ออกจากการเป็นรัฐมนตรี รวมไปถึงข้อเรียกร้องอีกหลายข้อจากกลุ่มที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนพ.วิทิติ อรรถเวชกุล อดีตผอ.องค์การเภสัชกรรม
ซึ่งวันนั้นแต่ละฝ่ายทั้งแพทย์ชนบท-รัฐบาล-นพ.ประดิษฐ ต่างก็เรียงหน้าตั้งโต๊ะแถลงผลการเจรจาที่สรุปได้ว่าให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ ส่วน P4P ก็ให้ทำเหมือนเดิมแต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
ส่วนข้อเรียกร้องให้ปลดนพ.ประดิษฐ นั้นให้เป็นดุลพินิจของนายกฯ เรียกว่าไม่มีอะไรต่างจากนโยบาย
ถือว่าเข้าทางรัฐมนตรี เพราะว่ารัฐมนตรีพยายามใช้การเจรจาเป็นเกณฑ์ในการยื้อไม่ให้เราไปชุมนุมที่หน้าบ้านนายกฯ แต่เราคิดว่าไม่เป็นไร รัฐมนตรียิ่งดื้อ ยิ่งบิดเบือน หรือพูดไม่ตรงกับบทสรุปของการเจรจา ก็ดี สังคมจะได้รู้ ที่สำคัญรัฐบาลจะได้รู้ นายกจะได้รู้ ว่ารัฐมนตรีคนนี้คบไม่ได้ ถึงเวลาจะได้เอาออกไป”
ถาม : หลังแถลงผลการเจรจาเหมือนว่าความเห็นของแกนนำแพทย์ชนบทจะเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง
มี 2 แนวคิดจริง คือแนวคิดที่ว่าไม่ต้องเจรจา เดินหน้าไล่อย่างเดียว กับอีกแนวคิดหนึ่งคือการเจรจา เพราะในความเป็นจริง ไล่นพ.ประดิษฐ ไปแล้วก็ต้องมาคุยกันว่าจะแก้ระเบียบหรือมติครม.นั้นอย่างไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและทำงานได้ ทำให้ช่วงที่เจรจาอาจจะมีความเห็นแตกเป็น 2 ความเห็นบ้าง แต่ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเราจะเดินไปทั้ง 2 ทางคือแก้มติครม.ให้เราทำงานได้เหมือนเดิม และเราไม่ได้เจรจาแล้วหยุดไล่ เราก็ยังไล่ต่อไป สุดท้ายแพทย์ชนบทก็เข้าใจกันดี แต่ขั้นตอนหลังการเจรจาที่ต้องตั้งคณะกรรมการฯ เราก็ยินดีให้มีการตั้งคณะกรรมการและกำหนดรายละเอียดเพราะงานมันต้องเดิน
ถาม : รายละเอียดค่าตอบแทนฉบับใหม่ที่จะออกมาควรเป็นอย่างไรจึงจะสามารถยอมรับได้
อย่างแรกเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการ ประธานซึ่งเรายืนยันแล้วว่าต้องไม่ใช่คนในฝั่งกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือว่าไม่เป็นกลาง ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นคู่กรณีเราทั้งสิ้น กรรมการก็ต้องขอคนกลาง ตอนนี้ก็บรรลุความเห็นร่วมกันแล้วว่าคนกลางที่จะมาเป็นประธานคณะกรรมการฯ คือ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังของ สปสช.
ส่วนสาระเราก็มีสูตรตามข้อเรียกร้องคือ เอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4, 6 คืนมา และปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับวิชาชีพพยาบาล เภสัชพยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ เพราะว่าระเบียบเดิมนั้นเขาได้น้อยไป ส่วนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นยังไม่ได้คุยในรายละเอียด ต้องไปดูตัวเลข แต่หลักการคือขอให้เพิ่ม เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้คนทำงานในชนบทนานๆ ส่วนจะร่างใหม่เป็นชื่อฉบับอะไรก็แล้วแต่เราไม่ได้ซีเรียส ส่วนฉบับ 9 เป็นเรื่อง P4P เรายืนยันว่าต้องเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่บังคับทำ และอาจจะมีการร่าง P4P ใหม่ที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลชุมชน แต่คงขอเรียกชื่ออื่น เพราะชื่อ P4P มันแสลง เช่น P4QO หรือ Pay for Quality and Out come หรือเป็นการจ่ายตามคุณภาพและผลลัพธ์ที่ไม่ใช่การจ่ายตามกิจกรรม
ถาม : มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสมของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน
เราไม่รู้สึกว่าภาคประชาชนจะเป็นปัญหาการที่มีภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบดูว่าค่าตอบแทนเป็นธรรมไหม มากไปไหม น้อยไปไหม มีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพหรือเปล่า ร่างระเบียบเพื่อตัวเองหรือเปล่า ถือเป็นเรื่องที่สมควร ที่สำคัญไม่ใช่ว่าแต่งตั้งใครเข้าไปก็ได้ แต่เราเสนอคนที่เคยทำงานในระบบหลักประกันสุขภาพ เคยทำหน้าที่คลุกคลีอยู่ในระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุขเข้าไป เขามีความรู้ มีความคิดมากพอที่จะทำหน้าที่ตรงนั้น
ถาม : ภาพที่แพทย์ชนบทออกมาแสดงความเห็นต่างๆ และปลุกม็อบอีกครั้งหนึ่งหลังการเจรจาได้ข้อสรุปแล้วทำให้หลายคนสับสนท่าทีและการตัดสินใจ และมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอุดมการณ์เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน
ยืนยันว่ายังมีอุดมการณ์เหมือนเดิม แม้จะเรียกร้องเรื่องค่าตอบแทนให้ตัวเอง แต่ก็ไม่ได้เพื่อตัวเราเสียทีเดียว โอเคผลพลอยได้นั้นเราได้ ตรงนี้ยอมรับ แต่นี่เป็นการเรียกร้องให้ระบบให้มีการสร้างแรงจูงใจส่งเสริมให้คนอยู่ในชนบทอันนี้เป็นหัวใจ เพราะปัจจุบันแรงดึงของภาคเอกชน และโรงพยาบาลจังหวัดก็มหาศาล คลินิกเสริมสวยชื่อดังที่มีสาขาเป็นร้อยให้ค่าตัวหมอ 1.5 แสน เป็นหมอหิ้วกระเป๋ามาใบเดียว มาตัวเปล่าพร้อมใบประกอบโรคศิลป์ ไปทำงานกับเขา 8 ชั่วโมงได้ค่าแรง 1.5 แสนต่อเดือน ทุนนิยมมันแรง กระแสบริโภคนิยมมันแรงมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องสู้ คือเราต้องสู้กับระบบทุนที่มาดูดแพทย์ ดูดเจ้าหน้าที่ของเราไป ก็เลยต้องเป็นแบบนี้
ถาม : การชุมนุมกันในวันที่ 20 มิ.ย. ที่ รร.เซ็นทรา ศูนย์ราชการ
ใช่แน่นอนแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งวันนั้นก็สุดแล้วแต่จะเรียกว่าเป็นการประชุม หรือชุมนุมได้ทั้งนั้น แต่ในช่วงเช้าก็แน่นอนว่าเป็นการประชุมทำความเข้าใจกัน ส่วนช่วงบ่ายคงมีปฏิบัติการอะไรบางอย่าง แล้วจะยกระดับจากที่เคยรวมตัวกันที่โรงแรมก่อนหน้านี้ที่มีการฉีกรูปถ่ายรัฐมนตรี หรือฉีกสัญลักษณ์ P4P หรือไม่นั้นไม่รู้ เราไม่รู้ จะมีการตั้งหน่วยแพทย์ให้บริการผู้ป่วยหรือไม่นั้นเราก็ยังไม่รู้
........................................
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์
“ต้องเข้าใจก่อนว่าการเอาฉบับที่ 4 และ 6 มาใช้คือไม่ทำ P4P ถูกต้องหรือไม่ ฉบับที่ 4 และ 6 คือเนื้อหา รายได้เขาอยากได้ว่ารายได้ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าบอกว่าเอาฉบับที่ 4 และ 6 ลบด้วยฉบับ 8 แปลว่าทำ P4P แต่ชดเชยโดยเอาฉบับที่ 4 และ 6 ลบด้วย 8 ผลลัพธ์เหมือนกัน เรื่องการชดเชยเยียวยาหลักคิดก็เหมือนเดิมคือเอาฉบับที่ 4 ฉบับที่ 6 ลบด้วยฉบับที่ 8”
ด้านเจ้ากระทรวงซึ่งเป็นคู่กรณีอย่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่ยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่า P4P จะเป็นเครื่องมือการันตีการทำงานของหมอ พร้อมทั้งเดินหน้าทำเวิร์คช็อปกันทั่วประเทศ แต่ก็ต้องยอมถอยออกมาทีละก้าวตั้งแต่ปรับนโยบายยกเลิกระเบียบเหมาจ่ายไปทีเดียวมาเป็นแบบค่อยๆ ลดเป็นสเต็ปท์ กระทั่งถอยมาสู่การตั้งคณะทำงานจัดทำระเบียบใหม่ตามผลสรุปที่ได้เจรจากันมาแล้ว โดยเปิดเผยการทำงานดังนี้
ถาม : การแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข
คณะกรรมการฯ ตั้งโดยผม แต่ผมไม่ได้เข้าประชุมด้วย ไม่อย่างนั้นปวดหัวตาย กรรมการตอนแรกตั้งมา 60 กว่าคน ต้องให้ไปตัดออกเพราะ 60 คน แค่ยกมือพูดคนละ 3 นาทีก็ 180 นาที แล้ว ตอนนี้ก็ตัดเหลือ 30 กว่าคน
ถาม : สัดส่วนที่มาของกรรมการ
ผมไม่มีปัญหาเรื่องรายชื่อ เพียงแต่ไม่โอเคเรื่องจำนวน
ถาม : ดูเหมือนว่าทางแพทย์ชนบทอยากให้ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่จะออกมาใหม่มีสาระเดิมของระเบียบฉบับที่ 4 และ 6
ต้องเข้าใจก่อนว่าการเอาฉบับที่ 4 และ 6 มาใช้คือไม่ทำ P4P ถูกต้องหรือไม่ ฉบับที่ 4 และ 6 คือเนื้อหา รายได้เขาอยากได้ว่ารายได้ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าบอกว่าเอาฉบับที่ 4 และ 6 ลบด้วยฉบับ 8 แปลว่าทำ P4P แต่ชดเชยโดยเอาฉบับที่ 4 และ 6 ลบด้วย 8 ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่วิธีคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเอาวิธีมาใช้ก็เกิดการทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน ถ้าอยากจะเอาแต่ฉบับที่ 4 และ 6 ก็คือไม่ทำ P4P จะทำแต่เหมาจ่ายอย่างเดียว
ถาม : หลักการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากการทำตามนโยบาย P4P
เรื่องการชดเชยเยียวยาหลักคิดก็เหมือนเดิมคือเอาฉบับที่ 4 ฉบับที่ 6 ลบด้วยฉบับที่ 8
ถาม : คิดอย่างไรกับเรื่องที่ชมรมแพทย์ชนบทนัดหมายชุมนุมกันในวันที่ 20 มิ.ย. นี้
เข้าใจว่าแพทย์ชนบทเขาไปร่วมประชุมเรื่องงบประมาณขาลงของสำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.) ตามที่มีหนังสือเชิญ ซึ่งตรงนี้เราเข้าใจกันดี
ถาม : หนักใจหรือไม่ที่มีประแสข่าวเรื่องการปรับ ครม.
เหมือนเดิมไม่ลำบากใจเพราะว่าผมไม่ได้มีความคาดหวังเหมือนว่าถ้าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้วมันจะขาดใจ เป็นก็ดีจะได้ทำงานให้ประชาชน ไม่ได้เป็นก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นไม่ได้ลำบากใจเพราะว่าตั้งใจมาทำงานให้กับนายกรัฐมนตรี ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเห็นควรว่าจะเปลี่ยนบุคลากรก็แล้วแต่หัวหน้าทีม อันนี้เป็นดุลพินิจของท่าน สบายใจทุกอย่าง มาทำงานด้วยความตั้งใจ และยังไม่หมดกำลังใจอะไร เพียงแต่รู้สึกผิดหวังที่งานมันไปช้ากว่าที่คิด อยากให้งานมันเดินไปได้ เพราะเห็นว่ามีปัญหาตั้งเยอะรอผมอยู่ ทั้งเรื่องแรงงานต่างด้าวที่กำลังจะเปิดเออีซีอีก ปัญหาคนแก่ อีก 22 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของประเทศ งบประมาณการเงินของประเทศเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีระบบการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพเงินก็จะเพิ่มทวีคูณ และปัญหาอื่นๆ อีกเยอะที่ต้องได้รับการแก้ไข ถ้ามาช่วยกันทำงานก็จะดี ซึ่งแพทย์ชนบทก็เข้าใจดีและยินดีเข้ามาร่วมกันทำงาน
--จบ--
หมายเหตุ
รายชื่อคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข
1. นายคณิศ แสงสุพรรณ จากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน
2. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง เป็นผู้ทำงาน
3. ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นผู้ทำงาน
4. นางอุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ทำงาน
5. นายสุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย เป็นผู้ทำงาน
6. นายประเสริฐ ขันเงิน ผอ.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นผู้ทำงาน
7. นายเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น เป็นผู้ทำงาน
8. นายอารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ทำงาน
9. นายรอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เป็นผู้ทำงาน
10. นายนำพล แดนพิทักษ์ ผอ.โรงพยาบาลบาลพลี จ.สมุทรปราการ เป็นผู้ทำงาน
11. นางประชุมพร บูรณ์เจริญ โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ เป็นผู้ทำงาน
12. นายจิรโรจน์ ธีระเดชธนะพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลบางเลน จ.นครปฐม เป็นผู้ทำงาน
13. นายไพศาล กังวลกิจ ผอ.โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี เป็นผู้ทำงาน
14. นายสมชาย กิจสนาโยธิน โรงพยาบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย เป็นผู้ทำงาน
15. นายวีระ อิสระธานันท์ โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย เป็นผู้ทำงาน
16. นายประทิน ฮึงวัฒนากุล โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี
17. นางฉวีวรรณ ม่วงน้อย โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นผู้ทำงาน
18. นางสาวศิริพร จิตรประสิทธิศิริ โรงพยาบาลสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ทำงาน
19. นางกฤษดา แสวงดี สภาการพยาบาล เป็นผู้ทำงาน
20. นางสาวจีรวรรณ อัครานุชาต โรงพยาบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย เป็นผู้ทำงาน
21. นางจงกล อินทสาร โรงพยาบาลบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ทำงาน
22. นางจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นผู้ทำงาน
23. นางวิลาวรรณ สมตน โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร เป็นผู้ทำงาน
24. นางสมใจ ลือวิเศษไพบูลย์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ทำงาน
25. นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เป็นผู้ทำงาน
26. นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล โรงพยาบาลสระบุรี จ.สระบุรี เป็นผู้ทำงาน
27. นางขนิษฐา ชูชาวนา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว จ.สระแก้ว เป็นผู้ทำงาน
28. นางจีรวรรณ ดนัยตั้งตระกูล โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นผู้ทำงาน
29. นายอารักษ์ ดีใหม่ โรงพยาบาลด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นผู้ทำงาน
30. นายสุทัศน์ พลคชา โรงพยาบาลเสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นผู้ทำงาน
31. นายสรวิศ ม่วงมิตร โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น เป็นผู้ทำงาน
32. นยชูเกียรติ เขียวแดง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ทำงาน
33. นายสำเริง จงกล สาธารณสุขอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นผู้ทำงาน
34. นายสาคร นาต๊ะ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๋อม จ.พะเยา เป็นผู้ทำงาน
35. นางบุญเตือน พูลศิริ โรงพยาบาลมะการักษ์ จ.กาญจนบุรี เป็นผู้ทำงาน
36. นายจรัญ เผือดจันทึก โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา เป็นผู้ทำงาน
37. นายสุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ
ทีมสนับสนุนการดำเนินงาน
1. นายสมอาจ ตั้งเจริญ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
2. นายสุวัฒน์ กิตติดิลกกุล ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
3. นายอนุกูล ไทยถานันดร์ โรงพยาบาลมะการักษ์ จ.กาญจนบุรี
4. นายขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
5. นางสาวแพร จิตตินันทน์ โรงพยาบาลบางใหญ่ จ.นนทบุรี
6. นางสาววรนัดดา ศรีสุพรรณ สำนักบริหารการสาธารณสุข
7. นางณิชากร ศิริกนกวิไล สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
- 36 views