แหล่งข่าวจากคณะกรรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพยายามในการสกัดกั้นเพื่อไม่ให้มาตรการ "สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 เม.ย.54 เดินหน้าต่อไปได้ และการบังคับใช้มติ ครม.ดังกล่าวต้องยืดเยื้อออกไป ด้วยการหยิบยกข้ออ้างเรื่องปริมาณผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสแร่ใยหินในประเทศไทยว่ามีน้อยเกินไป ทั้งที่ปัญหามาจากกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่ขาดประสิทธิภาพและระยะฟักตัวของโรคมะเร็ง ใช้เวลาประมาณ 30 ปี รวมทั้งหวั่นเกรงว่าถ้ายกเลิกนำเข้าแล้วจะกระทบต่อบริษัทผลิตกระเบื้องรายใหญ่
"ขณะนี้สังคมกำลังจับตาบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ว่า จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางเพื่อผู้บริโภค หรือเป็นเพียงเครื่องมือในการปกป้องภาคธุรกิจ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมีการสรุปข้อมูลตัวเลข และนำเสนอผลกระทบทางสุขภาพต่อรัฐบาลได้ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้" แหล่งข่าวระบุ
คณะกรรมการชุดนี้ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามแนวทางของรัฐบาล มี น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะประชุมครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 มิถุนายน 2556 เพื่อพิจารณาถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้สมาชิกทุกประเทศแบนการใช้แร่ใยหินทันที เนื่องจากเป็นสารก่อ "มะเร็ง" ซึ่งขณะนี้มี 50 ประเทศที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ด้านนายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เสนอกรอบการยกเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ใน 5 ผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 2-5 ปี ให้กับนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมไปแล้ว เพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้น กำหนดให้ยกเลิกภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรกและคลัตช์ ท่อซีเมนต์และกระเบื้องมุงหลังคากำหนดให้ยกเลิกภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อกำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตในโรงงาน ซึ่งสามารถห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ โดยเป็นการเปลี่ยนจากแนวทางเดิมที่จะใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กำหนดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากยังมีผลิตภัณฑ์บางชนิด ที่ไม่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ จึงไม่ควรห้ามการนำเข้า เช่น ฉนวนกันความร้อน ชุดป้องกันความร้อนพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง เป็นต้น
"กรมโรงงานอุตสาหกรรมสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่ต้องมีแผนที่ชัดเจนเพื่อให้ปฏิบัติได้และมีเวลาปรับตัว ที่ผ่านมาเราได้ศึกษาระยะเวลาการยกเลิกใช้ไปแล้ว แต่ยังมีความเห็นที่ต่างกันระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้าน ดังนั้น ถ้า ครม.เห็นชอบกรอบระยะเวลาครั้งนี้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที และหลังจากนี้ภาครัฐควรเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภค ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จะบังคับให้ภาคเอกชนปรับตัวเองไปด้วย" นายณัฐพล กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 มิถุนายน 2556
- 1 view