นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้เล่านิทานเรื่องคนก่ออิฐเป็นเรื่องของคนก่ออิฐสามคน กำลังก่ออิฐอยู่ใกล้ๆ กัน มีคนมาถามว่ากำลังทำอะไร คนแรกตอบว่า "กำลังก่ออิฐอยู่นี่ไง ไม่เห็นเรอะ" คนที่สองตอบว่า "กำลังก่อกำแพง" ส่วนคนที่สามตอบว่า "กำลังสร้างวัด"
คนก่ออิฐคนแรก มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของงานที่ทำว่านำไปสู่อะไร คนที่สองดีขึ้นมาหน่อยที่เห็นว่าสิ่งที่ทำจะก่อเป็นกำแพง แต่คนที่สามเห็นคุณค่าของงานที่ทำว่ากำลังสร้างวัดเพื่อสืบพระศาสนา
แท้จริงแล้วมนุษย์มีมิติด้านจิตใจและปัญญาที่ต้องการทำให้ชีวิตมีคุณค่า งานที่ทำหากเกิดผลเพียง "มูลค่า" คือค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเท่านั้น จะทำให้ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปเรื่อยๆผู้ที่สะท้อน "ความเจ็บปวด" ในเรื่องนี้ออกมาได้อย่างมีศิลปะและสร้างความสะเทือนใจให้แก่คนทั้งโลก คือ ชาร์ลี แชปลินในภาพยนตร์เรื่องโมเดิร์นไทม์(Modern Time)ที่สมัยนั้นกำลังเข้าสู่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมหลักการแยกงานเป็นชิ้นๆ ซอยออกเป็นส่วนๆให้คนแต่ละคนทำเฉพาะส่วนย่อยๆ เท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมากมายมหาศาล อย่างการผลิตรถยนต์ที่คนงานแต่ละคนทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวในสายพานการผลิตเช่น ขันนอตเพียงตัวเดียวที่เป็นส่วนหนึ่งของรถคุณค่าที่แท้จริงของงานที่ทำจึงหมดไป และคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรซึ่งภาพยนตร์ของ ชาร์ลี แชปลิน สร้างให้ตัวละครคือ ชาร์ลีแชปลิน เอง ทำหน้าที่ขันนอตเท่านั้น จนสภาพความเป็น "คน" หมดไป คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรและสายพานการผลิตท่าขันนอตติดตัวไปแม้เมื่อเลิกงานแล้ว
ระบบพีฟอร์พีที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะนำมาใช้อย่างผิดๆ นอกจากไม่เกิดผลดีตามที่หวังแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานกลายสภาพเป็นคนก่ออิฐคนแรกไปเรื่อยๆดังความเห็นของ ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ซึ่งศึกษาเรื่องพีฟอร์พีและได้ชี้ว่าพีฟอร์พีจะทำให้"การรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขไทยเปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมอุดมคติทางการแพทย์ที่ทำงานรักษาสุขภาพผู้ป่วยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของผู้ป่วย ไปเป็นการรักษาให้ได้ปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากการมองผู้ป่วยเป็นชิ้นงานมากกว่ามองเป็นคนจะค่อยๆ เกิดขึ้นและหล่อหลอมให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลกลายสภาพจนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งความจริงเป็น 'หายนธรรม' และสิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต"
ทพ.ดร.ธงชัย สรุปว่า "หากนำพีฟอร์พีแบบไทยไปใช้ทั่วประเทศ สุขภาพของคนไทยจะไม่ดีขึ้น... แม้ปริมาณการรักษามากขึ้น แต่เป็นการรักษาที่เป็นไปเพื่อค่าตอบแทนไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์สุดท้ายของสุขภาพ ไม่ส่งเสริมการทำงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ไม่สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการและการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพแพทย์ ทั้งนี้เราไม่สามารถโทษว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีจริยธรรมในการรักษา แต่ตัวระบบที่ใช้เป็นตัวบีบบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ค่อยๆ ถูกกลืนไปทีละเล็กละน้อยจนไม่รู้ตัว"
การสั่งการบังคับให้มีการใช้ระบบพีฟอร์พีทั่วประเทศ จึงเป็นการสร้างหายนะให้แก่ระบบบริการสาธารณสุขไทยในระยะยาว
ผู้เขียนเชื่อว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขคือนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ตั้งใจทำเรื่องนี้โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง แต่ทำไปเพราะสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็น"มิจฉาทิฐิ" ประการแรก คือ เข้าใจว่าวิธีการพีฟอร์พีจะช่วยให้ระบบบริการสาธารณสุขมีคุณภาพดีขึ้น ประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นปัญหานี้เกิดจากมิได้ศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ และอาจเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐมนตรีด้วย จึงผลีผลามทำลงไปโดยไม่มีการตระเตรียมทั้งด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ประการที่สอง เป็นความสำคัญผิด คิดว่าเป็นปลัดกระทรวงแล้วจะสั่งการอย่างไรก็ได้ ทุกคนต้องยอมรับอำนาจในฐานะเป็นผู้บริหารสูงสุดในฝ่ายราชการประจำแท้จริงแล้วอำนาจไม่สามารถบังคับคนหมู่มากได้ โดยเฉพาะถ้าผู้อยู่ใต้อำนาจไม่เชื่อในสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ
ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างเช่นนี้ให้ศึกษามากมาย ขอยกตัวอย่างกรณี พระเจ้าอักบาร์มหาราช พระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองอำนาจในอินเดียยาวนานหลายร้อยปี พระเจ้าอักบาร์มหาราชครองราชย์อยู่ถึง 49 ปี ทรงเป็นมุสลิมแต่ปกครองคนอินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นฮินดู ทรงเป็นพระจักรพรรดิที่มีสายพระเนตรยาวไกลและทรงใช้เมตตาธรรมในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนอย่างกว้างขวาง ทรงให้เสรีภาพทางศาสนา และมีพระประสงค์จะหลอมรวมคนต่างศาสนาเข้าด้วยกันด้วยการตั้งศาสนาใหม่คือ "ทิพยศรัทธา" (Divine Faith) ซึ่งรวมคำสอนของศาสนาต่างๆ เข้าด้วยกัน ทรงเป็น"ศาสดา" หรือผู้นำของศาสนาใหม่นี้ด้วยพระองค์เอง แต่ตลอดพระชนมชีพนับแต่ตั้งศาสนานี้ในปี พ.ศ. 2124 จนสวรรคต รวมเวลาถึง 24 ปี มีผู้ศรัทธาเข้าสู่ศาสนานี้เพียง19 คน หลังเสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ. 2148 ศาสนานั้นก็ปลาสนาการไป
พีฟอร์พีมีการใช้อย่างรอบคอบในอังกฤษและหลายประเทศ ยังพบว่าไม่ได้ผลตามที่ประสงค์ และบังเกิดผลไม่พึงประสงค์ที่ชัดเจนแต่พีฟอร์พีที่นำมาใช้อย่างผิดๆ ของกระทรวงสาธารณสุข จะไปบังคับให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศเชื่อฟังและทำตามจะเป็นไปได้อย่างไร
วิชาชีพอิสระโดยเฉพาะอย่างแพทย์และทันตแพทย์ถ้าไม่ได้ "ใจ" กันแล้ว บอกได้คำเดียวว่ายาก โดยเฉพาะแพทย์ที่หล่อหลอมจิตวิญญาณและประสบการณ์การต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรมมาอย่างยาวนานอย่างแพทย์ชนบท
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 มิถุนายน 2556
- 10 views