ดูเหมือนประเด็นข้อคัดค้านนโยบายค่าตอบแทนที่จ่ายตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายผสมผสานกับวิธีคิดตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance)  จะไม่ยุติง่ายๆ    แม้จะมีการเจรจาร่วม 3 ฝ่าย ทั้งจากตัวแทนรัฐบาล อย่าง นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

เนื่องจากล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติรับทราบผลการปรึกษาหารือ   และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามผลการปรึกษาหารือตามข้อสรุปที่ได้มีการตกลงกันไว้กับกลุ่มเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ  โดยนำข้อสังเกตต่างๆ และเอกสารที่ได้นำเสนอในที่ประชุม เมื่อ วันที่  6 มิถุนายน 2556 ประกอบการพิจารณาการหารือร่วมกัน  ปัญหาที่ทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ไม่พอใจจนต้องออกแถลงการณ์ต่อว่ารัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมทั้งเตรียมตัวเดินหน้าประชุมหาแนวทางเคลื่อนไหวต่อเรื่องนี้ โดยกลุ่มหมอชนบทได้นัดรวมพลกันที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ แม้จะปฏิเสธยังไม่ประท้วงหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่งานนี้ไม่รับประกันว่าจะไม่ดำเนินการ 

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้เหตุผลถึงความไม่ชัดเจน ว่า  ปัญหาหลัก คือ มติครม. กลับไม่พูดถึงรายละเอียดของการทำพีฟอร์พีที่มุ่งเน้นความสมัครใจ  รวมไปถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำและไม่ทำพีฟอร์พีในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่พูดถึงว่าจะมีการเยียวยาโดยอิงอัตราการจ่ายตามหลักเกณฑ์ฉบับที่ 4 และ 6 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้บุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน ดังนั้น หากไม่จริงใจปฏิบัติตามข้อตกลงก็ต้องเดินหน้าประท้วงต่อไป

ทั้งนี้ หากแยกตามข้อสรุปของทั้งกระทรวงฯ และเครือข่ายฯ จะพบว่ามีการสรุปประเด็นจากการหารือในเรื่องพีฟอร์พีที่แตกต่างกันอยู่ โดยในส่วนของกระทรวงฯ ได้สรุปและเสนอครม. มีใจความสำคัญ  ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะทำการปรับปรุงรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเตรียมความพร้อมให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งสามารถทำพีฟอร์พีได้ โดยให้ตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องนี้ โดยต้องมาจากบุคลากรทุกวิชาชีพ สถานบริการแต่ละระดับ ทั้งนี้ ต้องได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน เตรียมพร้อมก่อน 2 เดือน ก่อนจะดำเนินการพร้อมกันวันที่ 1 ตุลาคม 2556

ส่วนมาตรการเยียวยาสำหรับโรงพยาบาลที่มีการดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา อาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำพีฟอร์พี ต้องได้รับการชดเชยตามมติครม. สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ทำที่เกิดจากความไม่พร้อมของกระทรวงฯเนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลก็จะได้รับการชดเชยด้วย แต่การชดเชยไม่รวมผู้ที่ไม่ทำ เพราะจะเป็นอันตรายทางด้านจริยธรรม

เรื่องนี้ ปลัด สธ.ยังย้ำว่า ปัญหาประชาชนรอเราอยู่ ถ้าเราก้าวข้ามปัญหาไม่ได้ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้  ทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ ไม่แตกต่าง ภายใต้กติกาที่จะต้องกำหนดออกมาก

ขณะที่ทางเครือข่ายฯ สรุปประเด็นหารือว่า จะมีการออกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ให้มีรายละเอียดตามฉบับ 4 และ 6 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มาจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนเข้าร่วมพิจารณา โดยให้ทำการศึกษาผลกระทบพีฟอร์พีและความพร้อมในการดำเนินการเน้นสมัครใจไม่เกิน 60 วัน  ส่วนประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำและไม่ทีพีฟอร์พีนั้นจะต้องเยียวยาทุกคน  โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 และ 6 ในส่วนโรงพยาบาลชุมชน และฉบับที่ 8 ในส่วนโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป

เห็นได้ว่าข้อสรุปของแต่ละฝ่ายยังมีข้อแตกต่างกันอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าในการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลกว่า 5 ชั่วโมงไม่ได้ผลลัพธ์ใดๆ เลยหรืออย่างไร  เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมตัวแทนกลุ่มวิชาชีพในหน่วยบริการทุกระดับ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี  พร้อมทั้งหารือแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาพีฟอร์พี ทว่ากลุ่มหมอชนบทไม่ขอเข้าร่วม แจ้งว่าไม่สะดวกในการเดินทาง เนื่องจากส่วนใหญ่กลับโรงพยาบาลชุมชนในส่วนต่างจังหวัดกันหมด แต่จะส่งรายชื่อกรรมการให้ทางอีเมล์

กระนั้นแว่วว่า ชมรมแพทย์ชนบทไม่มั่นใจในการจัดประชุมของกระทรวงฯ  เนื่องจากไม่เชื่อว่าการศึกษาพีฟอร์พีจะเป็นไปตามข้อตกลงที่เน้นความสมัครใจ  และต้องการเข้าร่วมเพียงการประชุมที่ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ซึ่งเป็นเลขานุการการประชุม 3 ฝ่ายที่ทำเนียบเป็นคนจัดเท่านั้น  นั่นเพราะว่ามติที่ประชุมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนตกลงเช่นนั้น จึงไม่รู้ว่าสุดท้ายการประชุมคณะกรรมการพีฟอร์พีจะเป็นเช่นไร