สธ. หนุนให้หญิงลาคลอดได้ 180 วัน กรมสวัสดิการฯ ชูมุมนมแม่ในองค์กรตั้งเป้า 2558 เด็กไทยกินนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 60 นาน 6 เดือน
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ผนึกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หนุนให้ผู้หญิงหลังคลอดมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน ดันสถานประกอบการเปิดมุมนมแม่ทั่วประเทศสำเร็จแล้วกว่า 944 แห่งทั่วประเทศ รองรับแรงงานสตรีซึ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้เลี้ยงลูกได้ระหว่างทำงานอย่างมีความสุขและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสร็จทรงเปิดงานการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่นกรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณะสุข ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยจัดให้มีการอภิปรายหัวข้อ"นโยบายและสิทธิประโยชน์เพื่อแม่และเด็กไทย" เปิดเวทีให้ภาครัฐชี้แจงถึงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้หญิงหลังคลอดและเด็กไทย
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข เปิดเผยว่าการกินนมแม่จะช่วยให้เด็กลดโอกาสป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงได้ 3-5 เท่าตัว ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ในปี 2555 มีหญิงหลังคลอดปีละ800,000 ราย โดยหญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 47.7 กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558 หรือ ให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน ให้ได้ 480,000 คน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขอความร่วมมือจากบริษัทนมเด็ก เพื่อไม่ให้มีการส่งเสริมการขายหรือทำการตลาดในกลุ่มหญิงหลังคลอด และสนับสนุนให้ขยายสิทธิข้าราชการหญิงลาคลอดต่อเนื่องจาก90 วันเป็น 180 วัน เพื่อให้แม่ยุคใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด ตลอดจนหนุนการ ขยายสิทธิให้พ่อลางานเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกหลังคลอดและได้รับค่าแรงจากนายจ้าง จาก 15 วันเป็น 30 วัน
นางนิตยา โพธิ์สุข หัวหน้ากลุ่มงานคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานกองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการในการเปิดมุมนมแม่ในสถานประกอบการสำหรับพนักงานหญิงหลังคลอดเพื่อให้พนักงานหญิงมีห้องในการบีบเก็บน้ำนมระหว่างทำงานได้ ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการจำนวน 944 แห่ง ปัจจุบันแรงงานสตรีเป็นแรงงานหลักใน 4 ภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสุงสุดของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่ม และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งภาครัฐต้องให้การสนับสนุนแรงงานเหล่านี้ให้มีความสะดวกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานถึง 6 เดือน
ทางด้านมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แพทย์หญิงศิริพรกัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯได้จัดทำงานวิจัยผลสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ชิ้นแรกของประเทศไทย" H ea l t hOu t c o m e o f E x c l u s i v e B re a s t f e e d i n g a m o n g Thai Children: The First Cohort Study" ซึ่งนำผลการศึกษามาเปิดเผยครั้งแรก ภายในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ยืนยันว่า การกินนมแม่ช่วยลดโอกาสป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง โรคภูมิแพ้โรคติดเชื้อในช่องหู โรคปอดอักเสบ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเซลล์สมองซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างสูงสุด และในส่วนของมารดาที่ให้นมบุตรจะลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกโรคมะเร็งเต้านม และโรคกระดูกพรุน ดังนั้น บุคลากรแพทย์และพยาบาลสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยนี้ไปให้คำแนะนำและให้ความรู้กับหญิงตั้งครรภ์เพื่อส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน ได้อย่างถูกต้อง
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 14 มิถุนายน 2556
- 10 views