เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับทราบรายงานการปรึกษาหารือเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) เป็นประธานฯ โดยมีผู้แทนจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กลุ่มสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม และกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน เข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์) และปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์) ได้เข้าร่วมชี้แจงและหาแนวทางแก้ไข

ที่ประชุมได้มีการหยิบยกข้อเสนอขึ้นมาพิจารณรวม 12 ข้อ จาก 3 กลุ่มและได้รับการแก้ไขแล้วโดยมีข้อสรุปที่สำคัญดังนี้

1. ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจำนวน 5 ข้อ

1) รัฐต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในระบบหลักประกันสุขภาพ ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าไม่มีนโยบายที่จะนำระบบ Co-Payment มาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2) ให้ยกเลิกการเก็บ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กระทรวงสาธารณสุขรับทราบข้อมูลผลกระทบทางลบด้านการปฏิบัติของโรงพยาบาล และรับไปแก้ไขในการปฏิบัติ และจะนำเรื่องการเรียกเก็บ 30 บาท ไปพิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อพิจารณาทบทวนนโยบาย

3) ให้การจัดหา (จัดซื้อ) บริการสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของ สปสช. เท่านั้น

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันที่จะไม่มีนโยบายการโอนเงินงบประมาณไปที่กระทรวงสาธารณสุขและเขตบริการ แต่เห็นว่า การจัดสรรเงินงบประมาณจะต้องรับฟังความเห็นของผู้รับบริการ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะแยกบทบาทของ สปสช. ในฐานะผู้ซื้อบริการ และบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในฐานผู้ให้บริการ นอกจากนั้นกำลังดำเนินการพัฒนากระทรวงสาธารณสุข ให้ทำหน้าที่ของผู้กำกับดูแลระบบสาธารณสุข (Regulator) และแยกหน่วยบริการออกมาเป็นส่วนของผู้ให้บริการ (Provider) ทั้งนี้จะได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักการ และการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

4) ยุติการแทรกแซงการบริหารงานของ สปสช.

รัฐมนตรีสาธารณสุขชี้แจงว่าเป็นนโยบายที่จะไม่แทรกแซงและไม่เคยแทรกแซงการบริหารงานของ สปสช. ในเรื่องดังกล่าว เลขาธิการ สปสช. เอง (นพ. วินัย สวัสดิวร) ต้องชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในเรื่องการแต่งตั้งรองเลขาธิการฯ ที่มาจากบุคคลภายนอก และการสร้างสำนักงาน สปสช. ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ได้ของบประมาณมาสร้าง สปสช. ในกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ได้ต้องการแทรกแซง

5) คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ. วิทิต อรรถเวชกุล

เนื่องจากข้อมูลพื้นฐานในกรณีการสอบสวนความผิดของ นพ. วิทิตยังไม่ตรงกัน จึงให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันและปิดกว้าง และเห็นร่วมกันว่า หากมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ให้ดำเนินการเปิดเผยและลงโทษโดยไม่ละเว้น

2. ข้อเสนอของสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

1) รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันนโยบายว่าจะไม่มีการแปรรูปองค์การเภสัชกรรมอย่างแน่นอน และเห็นความสำคัญที่จะต้องมีองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ด้านยาของประเทศ

2) การใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมในเรื่องการย้ายสถานที่ขององค์การเภสัชกรรม

เนื่องจากสถานทางการเงินขององค์การเภสัชกรรมไม่ชัดเจน จึงจะให้มีการตรวจสอบบัญชีและหลักฐานทางบัญชีขององค์การเภสัชกรรมทั้งระบบ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ

3) การใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

กรณีการจ่ายเงินนี้เป็นทำตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ สตง. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทบทวนหลักการใช้เงินก้อนนี้ เพื่อให้ถูกต้องโปร่งใสต่อไป

3. ข้อเสนอของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

มีข้อเสนอทั้งหมด 4 เรื่อง คือการคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 เหมือนเดิม การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นธรรมกับวิชาชีพอื่น ๆ การตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมทบทวนการกำหนดพื้นที่ การยกเลิกการใช้ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน และมีข้อสรุปดังนี้

1) ผลการปรึกษาหารือเป็นที่เข้าใจได้ว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับหลักการของระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการบริการต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เห็นด้วยว่าการคงบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในชนบท ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จำเป็นคือมาตรการทางการเงิน และเห็นด้วยว่าต้องมีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่ได้คิดจะดึงผู้ที่มีรายได้สูงลงมา แต่จะหาวิธีฉุดผู้ที่มีรายได้น้อยขึ้นไป ซึ่งการทำพีฟอร์พี เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยได้

2) ที่ประชุมเข้าใจตรงกันว่า การทำพีฟอร์พี มีบริบทในการทำงานของแต่ละหน่วยบริการมีความแตกต่างกัน หลักการที่สำคัญที่สุดคือต้องมีกติกากลางกำหนดขึ้นมา เพื่อให้แต่ละหน่วยบริการใช้ดำเนินการ ไม่ให้มีความแตกต่างหรือเกิดปัญหามากขึ้น   เช่น ด้านความมั่นคง  ไม่ใช้เงินมากเกินไป  ขณะที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลอยู่แล้ว  สามารถนำรายละเอียดปลีกย่อยไปปรับให้เหมาะสมกับหน่วยบริการแต่ละระดับได้

3) ที่ประชุมเห็นต้องกันว่า จะทำพีฟอร์พีที่เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ที่จัดให้เหมาะสมตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 โดยให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและเตรียมความพร้อมให้ รพช. ทุกแห่งสามารถทำพีฟอร์พีได้  และระหว่างนี้  โรงพยาบาลที่ได้มีการดำเนินมาแล้ว    ตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 อาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำพีฟอร์พี จะต้องได้รับการชดเชย ตามมติคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ทำที่เกิดจากความไม่พร้อมของกระทรวงสาธารณสุขอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล จนไม่สามารถที่จะทำได้ก็จะได้รับการชดเชย แต่ทั้งนี้การชดเชยจะไม่รวมถึงผู้ที่ไม่ทำ เพราะจะเป็นอันตรายทางด้านจริยธรรม

ทั้งนี้  จากการหารือดังกล่าวได้มีการตั้งคณะทำงาน 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่ในการปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ  ที่เป็นปัญหาอุปสรรคหรือไม่สอดคล้องแต่ละพื้นที่หรือระดับของหน่วยบริการให้ชัดเจน  เพื่อเป็นหลักการที่ทุกคนต้องทำ เพื่อพัฒนาพีฟอร์พีให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยบริการแต่ละระดับ และให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในระบบได้ ตลอดจนพิจารณามาตรการชดเชย เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตาม ฉบับ 8 และการทำพีฟอร์พี ตามฉบับ 9 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้มีการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 รวมถึงผู้ต้องการจะทำพีฟอร์พีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ อันเนื่องจากความไม่พร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่สามารถสนับสนุนการทำพีฟอร์พี หรือความไม่ชัดเจนของข้อมูลจนโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะทำได้ก็จะได้รับการชดเชย  แต่มาตรการนี้จะไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่ตั้งใจต่อต้านหรือจะไม่ทำ เพราะจะเป็นอันตรายทางด้านจริยธรรม

องค์ประกอบของคณะทำงานมาจากบุคลากรจากทุกวิชาชีพ สถานบริการในแต่ละระดับ

เนื่องจาก P4P เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายวิชาชีพ โดยจะถือหลักการทำงานด้วยเหตุและผล ไม่ใช้วิธีการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่  ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน เตรียมพร้อมก่อน 2 เดือน  ก่อนที่จะดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 1 ตุลาคม 2556

อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาประชาชนรอเราอยู่ ถ้าเราก้าวข้ามปัญหาไม่ได้ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ ไม่แตกต่าง ภายใต้กติกาที่จะต้องกำหนดออกมา

ขณะที่ นพ. เกรียงศักดิ์มีความเห็นว่า แรงจูงใจในการให้แพทย์อยู่ในชนบท คือ ฉบับ 4 และ ฉบับ 6 ปัญหามาจาก ฉบับ 8 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างอายุ ขนาดโรงพยาบาล และพื้นที่ในการทำงาน ซึ่งจะมีมาตรการเยียวยา แต่การเยียวยาจะเป็นไปตาม ฉบับ 4 และ 6 ซึ่งน่าจะเสร็จได้ใน 1-2 เดือน และพีฟอร์พีเป็นส่วนเพิ่มแบบหนึ่ง จริง ๆ แล้วเกณฑ์ที่ระบุใน ฉบับ 9 นั้น เป็นการสมัครใจ จะเริ่มดำเนินการได้ ถ้าสามารถทำหลักเกณฑ์ให้เราอยากทำพีฟอร์พีได้ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยอมให้ทำอยากให้รอทำหลักจาก 1 ตุลาคม 2556 และต้องยึดหลักประชาธิปไตย เป็นอิสระในการเลือกของแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ต้องไม่ไปบังคับกัน แต่ต้องไม่เกิดผลกระทบกับคนอื่นด้วย

ตอนท้ายของการหารือฯ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ ได้กล่าวสรุปว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพูดนั้น เป็นสิ่งที่มีความเห็นตรงกัน ต้องมีประเด็นที่ต้องมาถกกัน ข้อแตกต่างซึ่งจะต้องไปทำงานในรายละเอียด ซึ่งจากการที่รัฐมนตรีฯ ต้องรายงานนายกรัฐมนตรีทราบ ดังนั้น ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการให้ได้โดยเร็ว

 

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

 

ที่มา: http://www.thaigov.go.th