ในอีก 10 ปีข้างหน้า ภาพของสถานบริการสุขภาพไทยจะเปลี่ยนไปมาก วันนี้ผู้ป่วยร้อยละ 70 เมื่อป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐ อีกร้อยละ 30 ไปคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้กำหนดธงและ road map หรือแผนที่ทางเดินไว้แล้วว่า จะเปลี่ยนสัดส่วนนี้ให้กลับหัวกลับหางกัน คือ 70% ของผู้ป่วยจะมาใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทิศทางนี้รัฐบาลกำลังเดินและสนับสนุนให้เดินไปอย่างไม่เปิดเผย

ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่นั้นมีการควบรวมกิจการกันแล้วหลายแห่ง โรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดคือเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนั้นปัจจุบันมี 38 สาขา มีแพทย์ทั้งเต็มเวลาและครึ่งเวลากว่า 7,000 คน ในขณะที่มีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนกว่า 750 แห่งเพียง4,000 คนเท่านั้น อีกเพียง 2 ปีข้างหน้า เครือโรงพยาบาลกรุงเทพจะเพิ่มสาขาเป็น 50 สาขามีแพทย์รวมกว่า 11,000 คน ในขณะที่วันนี้มีแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

อีก 10 ปีข้างหน้า ภาพของระบบสาธารณสุขไทยจะเปลี่ยนไป ประเทศไทยจะมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงไปตั้งสาขาในทุกจังหวัดและบางอำเภอที่เศรษฐกิจดี มีบริการครบทุกประเภท มีเตียงรับผู้ป่วยเป็นร้อยเตียง มีหมอเฉพาะทางดูแลอย่างดี  แต่ราคาค่ารักษาก็สูงลิ่วตามแบบโรงพยาบาลเอกชน เท่านั้นยังไม่พอ ในทุกอำเภอไม่ว่าใกล้ไกลที่ไม่กันดารจนเกินไป จะมีโพลีคลินิกของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังเช่าห้องแถวสี่ห้าคูหา เปิดโพลีคลินิก 24 ชั่วโมง พร้อมให้บริการคนไทยทุกคนที่มีเงินจ่าย ใครที่ป่วยหนักก็ส่งโรงพยาบาล แม่ข่ายในตัวจังหวัด และเผลอๆ ในบางตำบลใหญ่อาจจะมีคลินิกห้องเดียวให้บริการในนาม คลินิกเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนนั้นๆ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐก็กลายเป็นโรงพยาบาลชั้นสาม หมอเก่งๆถูกดูดสมองไหลไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน พยาบาลหรือวิชาชีพ อื่นๆ ก็จะขาดแคลนด้วย โรงพยาบาลหลวงก็มีหน้าที่ดูแลคนจนกับคนที่ไม่รวยจริงที่เงินหมดถูกส่งกลับจากโรงพยาบาลเอกชนให้มารักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐ

อนาคตการแพทย์ของระบบเอกชนไทยจะไม่ต่างจากเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิดทุกหัวระแหงแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล จบออกมาก็ไม่ต้องลำบากเข้ามารับราชการใช้ทุนที่ไกลๆหิ้วกระเป๋ามาใบเดียว เช้าเข้ามาทำงานในโพลีคลินิก เย็นกลับบ้านพักผ่อน มีหมอคนใหม่มีทำหน้าที่แทน หมอพยาบาลจะเป็นเหมือนพนักงานเซเว่นอีเลฟเว่น พอสิ้นเดือนก็รับเงินเดือนรับโบนัส เป้าหมายการรักษาคือรายได้และผลกำไรของบริษัท ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นทุกข์ด้วยอุดมการณ์ทางการแพทย์อีกต่อไป

ระบบการแพทย์ที่ดีต้องมีมาตรฐานเดียว คนรวยคนจนต่างต้องเข้าถึงการแพทย์มาตรฐานเดียวกัน เพราะชีวิตคนนั้นล้วนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ล้วนมีเลือดเนื้อชีวิตและจิตใจที่ต้องการการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่สร้างโรงพยาบาลรัฐที่มีคุณภาพ ยุติภาวะสมองไหล คุมกำเนิดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน เพราะสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่ควรเอามาแสวงหากำไร ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเป็นการค้า ควรมีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เพิกเฉยมาตลอด แต่กลับไปส่งเสริมนโยบายเมดิคัลฮับ ที่หลายคนเสนอว่าคือนโยบายเมดิคัลฮุบ บังคับให้ทุกโรงพยาบาลรัฐทำ P4P ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง  ทั้งหมดนี้ล้วนเอื้อต่อการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน

เมื่อถึงวันนั้น วันที่ระบบบริการสุขภาพภาครัฐล้มเหลว เพราะไม่มีบุคลากรที่เก่งและมีคนไม่เพียงพอ คนที่ไม่ใช่เศรษฐีจริงๆจะรู้ซึ้งว่า ทุกครั้งที่ป่วยก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วต้องไปพึ่งโรงพยาบาลเอกชน และเงินเก็บเงินสะสมก็จะถูกสูบจนหมดตัว จะยิ่งรวยกระจุก จนกระจายเป็นการแพทย์แห่งสาธารณทุกข์ เพราะกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ไม่ได้ใส่ใจจัดการแต่ต้นลม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 11 มิถุนายน 2556