เป็นประเด็นถกเถียงงัดข้อกันรุนแรงในกระทรวงสาธารณสุขสำหรับนโยบาย P4P Pay For Performance การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน ที่เริ่มใช้ไปแล้วระยะหนึ่ง แต่หลายโรงพยาบาลยังไม่ดำเนินการ ซ้ำยังออกมาต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข บอกว่าประเทศไทยต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะภาพรวมงบประมาณด้านสุขภาพใช้ไปราวร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด หากปล่อยให้งบก้อนนี้โตไปเรื่อยๆ ไม่เข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพก็จะไปกินงบประมาณลงทุนของประเทศ
เรียกว่า งบบางอย่างปล่อยปละละเลยมานานไม่มีการบริหารจัดการ เป็นงบจ่ายประจำ คนรับก็รับไปปกติเหมือนเงินเดือนแต่ในแง่ของประสิทธิภาพ เช้าชามเย็นชาม เหมือนระบบข้าราชการห่วยๆ !!
"P4P" มีแนวคิดทำสิ่งต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพ และลดภาระงบประมาณ เช่น การร่วมกันบริหารเป็นกลุ่มใหญ่ การแบ่งทรัพยากรกันใช้ โรงพยาบาลเล็กร่วมกันใช้ห้องผ่าตัด หรือมีการร่วมกันซื้อยา เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง ในด้านกำลังคน คือการปรับปรุงให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มคน
อย่างที่บอกตอนนี้น่าเป็นห่วงเรื่องงบประมาณ การสักแต่เพิ่มคนโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็เกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน งานหนักหน่อยก็เอะอะ โวยวายขอเพิ่มคน เปลืองภาษีชาติ !!
หมอประดิษฐ จี้จุดไปตรงๆ ว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ผ่านมายังไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าให้ไปแล้ว รัฐบาลต้องได้ผลลัพธ์อะไร จึงได้ทำ "P4P" ขึ้นมา โดยมุ่งหวังว่าสิ่งที่ประชาชนจะได้ขึ้นมาคือ 1. เชิงปริมาณ กระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น 2. เชิงคุณภาพ โดยมีตัวชี้วัด ในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น รวมไปถึงตัวชี้วัดคุณภาพด้านการรักษาพยาบาล เช่น การลดระยะรอคิว ผ่าตัดแล้วไม่มีการติดเชื้อรักษาคนไข้หายเร็วขึ้น คุณภาพการรักษาและการบริการด้านอื่นก็ต้องดีขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น
สุดท้ายจะได้ประโยชน์คือลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของภาครัฐกับเอกชน ได้เงินเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน คุณภาพงานที่ชัดเจนตอบคำถามรัฐบาลและประชาชนได้ สำคัญที่สุด หัวใจของ P4P คือมีการวัดผล ซึ่งจะช่วยในเชิงบริหาร โดยผู้อำนวยการหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร
การทำ P4Pจะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมาก และถ้าเราไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว
ฟังหลักการเหตุผลโดยรวมทั้งหมดแล้ว เห็นควรเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้มันดีขึ้นมา ไม่ใช่เอางบประมาณไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนอย่างเคยมา มีการสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยการประเมินผล ใครทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ก็สมเหตุสมผลดี
การจ่ายแบบเหมาจ่ายนั้น จะได้รับการตอบแทนคงที่ คงที่ทำงานน้อยๆ ก็ได้รับผลตอบแทนเท่ากับคนที่ทำงานหนัก ถามหน่อยว่าจะทำงานหนักไปหาพระแสงอะไร คิดกันแบบนี้การบริหารทำงานมันเลยปวกเปียก หนีไปรับจ็อบอื่นๆ หารายได้เพิ่มส่วนตรงนี้ยังได้เท่าเดิม มันก็เลยเป็นปัญหาใหญ่ เปิดคลินิกหาลำไพ่พิเศษ ส่วนงานทางการไร้ประสิทธิภาพ อืดอาดเป็นเรือเกลือคนไข้รอคิวเป็นวัน ข้ามวัน
เมื่อลองใช้ระบบP4Pก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในบางแห่งที่ชัดเจน ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียเวลารอนานเหมือนอย่างเคย อีกทั้งประสิทธิภาพโดยรวมก็ดีขึ้น ไม่ใช่ในแง่ของการดูแลรักษาอย่างเดียว การบริหารงานองค์กร วิชาชีพที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนล้วนได้ประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพและยังจะเป็นการดึงคนให้อยู่ในระบบมากขึ้น ไม่หนีหายไปไหนเนื่องจากมีค่าตอบแทนเพิ่มเติม
กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านตอนนี้ ก็คือ "กลุ่มแพทย์ชนบท" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่แน่ใจว่าเป็นการคัดค้านด้วยเหตุผลอย่างบริสุทธิ์ใจ หรือมีอะไรเคลือบแฝง หรือว่าปกติไม่ค่อยทำงาน หนีไปรับจ็อบ รับเงินเหมือนรับเงินเดือน
เจอมาตรการนี้เข้าไปก็เดือดร้อน นั่งไม่ติด เพราะถ้าไม่มีผลงานก็ไม่สามารถเอาไปชี้วัดแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ !!
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงคุณหมอ เหมือนแดนสนธยา ไม่มีใครสามารถเข้าไปค้นลึกตรวจสอบหรือปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก เหมือนกระทรวงมาเฟียที่นั่งทับกองผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่ โดยที่ไม่มีใครสามารถไปยกก้นออกได้ง่ายๆ
การรวมตัวของกลุ่มหมอชนบทออกมาเคลื่อนไหว กดดันรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว และยกระดับไปถึงขั้นขับไล่นพ.ประดิษฐ รมต.เจ้ากระทรวง สะท้อนชัดถึงบุคลิกตัวตนของนักเลงโต มาเฟียเสื้อกาวน์ หรือว่าหมอประดิษฐ ไปขวางทางผลประโยชน์อะไรหรือไม่ จึงออกมาอาละวาดหนักข้อกันขนาดนี้
ทำไมกลุ่มแพทย์พวกนี้ตั้งแง่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามหลักการที่ทุกคนมองแล้วว่า ใช่ ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็อดการได้คนที่เป็นนายแพทย์เข้ามาบริหารกิจการงานกระทรวงน่าจะทำให้วงการแพทย์เดินหน้าไปได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อในแง่หลักการทุกคนโอเค แล้วมันไปติดกระบวนการอะไรอยู่ จึงตั้งข้อสังเกตกันยกใหญ่ว่าเป็นรายการเหยียบตาปลาขัดผลประโยชน์กันมากกว่า วันนี้กระแสสังคมบางส่วนยังมีความเข้าใจคลุมเครือ ภาพลักษณ์ของนายแพทย์ที่ดูสูงศักดิ์มีความรู้เมื่อออกเคลื่อนไหวก็ย่อมทำให้สังคมคล้อยตามได้มาก จึงเป็นปัญหาหนักอกของ นพ.ประดิษฐ ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงระบบ
ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่เป็นนักการเมืองอาชีพเข้ามาบริหารกระทรวงสาธารณสุข กลับไม่ค่อยมีปัญหาใหญ่โตอะไรบริหารไปได้แบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่นก็ใช่ อาจเป็นเพราะบริหารการเมืองเก่ง ไม่อยากขัดใจกับใคร รู้ทิศทางลมดีอะไรยอมได้ก็ยอม ขัดแย้งกับพวกหมอๆ เรื่องจะยาว ปัญหาไม่จบอีกทั้ง ต้นทุนหน้าตักของตัวเองเทียบกับพวกเหล่าหมอไม่ได้งัดข้อไปก็มีแต่เจ็บตัวมากกับเจ็บตัวน้อย จึงอะลุ่มอล่วยอี๋อ๋อกันไร้ปัญหา
เช่นเดียวกับ วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีคนที่แล้ว ก็บริหารไปได้เรื่อย แม้ไม่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขมากนัก แต่ ก็ไม่มีปรากฏการณ์รวมตัวกันออกมาขับไล่แต่อย่างใด เพราะนักการเมืองเหล่านี้ได้เข้ามารับตำแหน่ง ก็ประคองตัวเองแลกผลประโยชน์ไม่อยากไปสู้รบตบมือกับใคร
กระทรวงที่ต้องบริหารงานเกี่ยวกับหมอ คนนินทากันให้แซดว่าเป็นพวกมาเฟียเสื้อกาวน์ ยิ่งไต่ระดับเป็นหัวแถวของกระทรวงแล้ว ยิ่งมีแนวคิดแข็งตัว อีโก้สูง ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มแพทย์ชนบท ควรต้องทบทวนบทบาทตนเองบ้าง อะไรที่เลวก็ต้องกระโดดเข้ามาสู้แต่เรื่องไหนดี ก็ไม่ต้องฝืนค้านต่อต้านจนเสียรังวัด อย่าทำตัวให้มัวหมอง จนชาวบ้านนินทาไปทั่วว่า "ตอนนี้...หมอมากจริงหนา ?!"
นโยบายที่ดีควรเดินหน้าทำต่อไป แต่ขอให้มันเป็นการกระทำที่หวังผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อการเมืองหรือธุรกิจของตัวเอง แบบนั้นประชาชนจะร่วมอนุโมทนา สาธุ !!
"การทำ P4P จะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมากและถ้าเราไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้วฟังหลักการเหตุผลโดยรวมทั้งหมดแล้วเห็นควรเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้มันดีขึ้นมา ไม่ใช่เอางบประมาณไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนอย่างเคยมา"
ที่มา: www.manager.co.th
- 8 views