แปรความขัดแย้งนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานและคุณภาพงาน หรือพี4พี มาหารือบนโต๊ะ ระหว่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมี สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขา ธิการนายกรัฐมนตรี เป็นโต้โผ จัดเวทีโต๊ะกลม 3 ฝ่าย หาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข
ลดปัญหาของรัฐบาลอีกเปลาะหลังจากกลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่าย ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านแนวคิดการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งเรื่อง พี4พี และผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของ นพ.ประดิษฐ อาทิ การให้ข่าวพาราเซตามอลปนเปื้อน การปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจาก ผอ.องค์การเภสัชกรรม ขยายวงกว้างถึงการขับไล่ นพ. ประดิษฐ พ้นจากตำแหน่ง นัดแต่งดำ และติดป้ายประท้วงหน้าโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง รวมถึงการขู่ชุมนุมประท้วงหน้าบ้านนายกฯ
มติที่ออกมาจากโต๊ะเจรจา 3 ฝ่ายมให้จัดตั้งคณะทำงาน ที่มีตัวแทนจากทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามาร่วมทำงาน ทำหน้าที่ 2 เรื่องหลัก คือ
1.ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่
2.คิดมาตรการชดเชย เยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาลที่สังกัดทำพี4พี หรือ สถานพยาบาลไม่ได้ทำพี4พี ที่มีสาเหตุจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ โดยการเยียวยาชดเชย ซึ่งเป็นไปตามมติครม. ที่ระบุให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ครอบคลุมบุคลากรที่ต่อต้านการทำพี4พี
แม้กลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะพอใจ พร้อมขอรอดูมติครม. เรื่องพี4พี ในการประชุมครม.สัญจร 9-10 มิ.ย.นี้ก่อน
แต่ยังยืนกรานให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลด นพ.ประดิษฐ พ้นจากเก้าอี้รมว.สาธารณสุข
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปริญญาโท สาธารณสุขศาสตร์ สาขาบริหารงานสาธารณสุขระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ อเมริกา
เคยรับราชการเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ปี 2528-2531
รู้จักและสนิทสนมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาตั้งแต่ทำธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์ร่วมกัน หนึ่งในกุนซือที่คอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอ
เข้ามามีบทบาทการเมืองเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก่อนนั่งเก้าอี้รมว.สาธารณสุข เมื่อต.ค.2555
ยอมรับว่าโล่งใจ หลังจับเข่าเจรจากับกลุ่มแพทย์ชนบทจนเข้าใจตรงกัน การคัดค้านเกิดจากความไม่พร้อมของหน่วยบริการ ไม่ใช่การต่อต้านการทำพี4พี
ย้ำว่าการเยียวยาจะย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 ต.ค.2556 ในลักษณะชดเชยส่วนต่างค่าตอบแทนเมื่อเทียบระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิมกับการจ่ายแบบพี4พี ขีดเส้นให้คณะทำงานดำเนินการเสร็จใน 2 เดือน
ขณะที่คู่กรณี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ชาวเพชรบูรณ์ แพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาฯ รับราชการเป็นผอ.ร.พ.นาแห้ว จ.เลย เมื่อ 1 เม.ย.2530 จากนั้นเป็นผอ.ร.พ.ภูกระดึง จ.เลย ปัจจุบันเป็นผอ.ร.พ.ชุมแพ จ.ขอน แก่น ได้รับเลือกเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ตั้งแต่ปี 2549 และเป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย
ประกาศผลเจรจาครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของคนไทย ไม่เฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบท เพราะทำให้คนไทยได้รับประโยชน์ จากระบบประกันสุขภาพที่ดี มีแพทย์ที่จะทำงานอยู่ในชนบท แต่จะขอรอดูรายละเอียดที่รมว.สาธารณสุขจะเสนอต่อครม.
หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะมีการชุมนุม แต่หากรัฐบาลมีความจริงใจ ทำตามข้อเรียกร้องในทุกด้านก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
ในฐานะคนกลาง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปี 2548 รองเลขาธิการนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนติดโทษแบน 5 ปีกรณียุบพรรคไทยรักไทย เป็นคนแรกของกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ที่หวนคืนเวทีการเมืองเต็มตัว เข้า มาร่วมงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มั่นใจผลเจรจาที่เกิดขึ้นเป็นจุด เริ่มต้น เพราะปัญหาคงไม่จบภายในวันเดียว โดยมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่องของศักดิ์ศรีด้วย แต่ถึงอย่างไรเวทีนี้ยังเปิดอยู่ตลอด หากจำเป็นก็ยินดีเป็นตัวกลางให้พูดคุยกัน เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น
ทีมา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 9 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)
- 4 views