ในที่สุด การประชุมเพื่อหารือข้อยุติจากปัญหาความไม่เข้าใจในนโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ก่อนหน้านี้ถูกคัดค้านมาโดยตลอด ทั้งการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนที่อิงผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี รวมไปถึงการเข้าไปตรวจสอบองค์การเภสัชกรรมจากปัญหาต่างๆ ก็เริ่มมีสัญญาณดีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงเวลา 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา..
เนื่องจากผลการหารือระหว่าง นพ.ประดิษฐ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. และฝั่งเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งนำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จะออกมาดูดีอย่างไม่น่าเชื่อ โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามาร่วมทำงาน โดยทำหน้าที่ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และคิดมาตรการชดเชย เยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ รพ.ที่สังกัดทำ พีฟอร์พี รวมไปถึง รพ.ที่ไม่ได้ทำพีฟอร์พี ซึ่งจะมีการเยียวยาชดเชยที่เป็นไปตามมติ ครม. โดยผลการศึกษาจะใช้เวลา 2 เดือน จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จะต้องมีการทำพีฟอร์พีในทุก รพ.ในสังกัดทั้งหมด
ขณะที่ทางแพทย์ชนบทก็มีท่าทีอ่อนลง โดยจะขอดูรายละเอียดการเยียวยาและการศึกษารูปแบบค่าตอบแทนใหม่ที่จะนำเสนอเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 11 มิถุนายนนี้ หากเป็นที่น่าพอใจเป็นอันจบ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น อาจเดินหน้าประท้วงต่อ !
ปัญหาที่ยังไม่จบ คือ ชมรมแพทย์ชนบทยังยืนยันขอให้นายกรัฐมนตรี ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี สธ. โดยได้ส่งเอกสารเหตุผลความไม่เหมาะสมผ่านนายสุรนันทน์ เพื่อส่งต่อนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว โดยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่มีความสามารถในการบริหารภาครัฐ แต่บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว เป็นการบริหารตามอำเภอใจ เช่น การมีนโยบายสั่งการบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำพีฟอร์พี ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างถ่องแท้ ที่สำคัญฟางเส้นสุดท้ายที่ชัดเจน คือ กรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในปี 2550 ที่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี
การที่บอร์ดสั่งปลด นพ.วิทิต สะท้อนชัดเจนว่า อภ.กำลังโดนแทรกแซง โดยเริ่มจากการที่รัฐมนตรีสั่งตรงให้เลขานุการ แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิต และหาเหตุปลดให้ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน
เรื่องนี้มีโอกาสพูดคุยกับ "นพ.ประดิษฐ" แจงว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้ อภ.มีความมั่นคง เพื่อจะได้เป็นหลักให้กระทรวงในการลดค่าใช้จ่ายการซื้อยา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่า รพ.ของรัฐต้องซื้อยาของ อภ.มากขึ้น แต่จะทำได้ต้องทำให้ อภ.มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสต่างๆ แต่ยังมีข้อกังขาในการเลิกจ้าง นพ.วิทิต ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องทุจริต เพราะยังไม่ถึงที่สุด แต่เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการยาที่มีการค้างสต๊อก ยกตัวอย่าง กรณียาพาราเซตามอล ซึ่งได้สอบถามแต่ไม่ได้รับรายงานจาก นพ.วิทิต จึงได้มีการทำงานคู่ขนานทั้งตั้งกรรมการสอบภายใน และส่งเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบ
โดยกรรมการตรวจสอบล้วนพิจารณาถึงความเหมาะสมในการบริหารงาน เช่น การซื้อยาพาราฯ โดยอ้างว่ามีกรณีน้ำท่วม ซึ่งปริมาณที่ซื้อคือ 200 ล้านเม็ด หรือ 100 ตัน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมียาในสต๊อกอีก 80 ล้านเม็ด หรืออีกกว่า 40 ตัน และเมื่อซื้อมาแล้วความไม่สมเหตุสมผลก็มีหลายอย่าง เช่น ล็อตแรกอ้างว่าจะนำมาใช้ในโรงงานตัวเอง แต่จนบัดนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ขณะที่วัตถุดิบยาพาราฯ กลับสั่งซื้อเป็นชนิดผง ทั้งๆ ที่โรงงานยังไม่พร้อมผลิต เพราะเหตุใดไม่ซื้อเป็นยาเม็ด เป็นต้น
"ผมได้อนุญาตเป็นพิเศษให้มีทีมเข้าไปดูข้อมูลเพื่อคลายข้อสงสัยเรื่องนี้ แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่การตรวจสอบผลการสอบสวนซ้ำแต่อย่างใด เพราะกรรมการได้ตรวจสอบสิ้นสุดแล้ว ซึ่งเอกสารข้อเท็จจริงในการยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิตนั้น นพ.วิทิตสามารถมารับ และจะถ่ายสำเนาให้ใครก็ได้ แต่บางเรื่องที่อยู่ในขั้นสอบสวนของดีเอสไอก็คงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้" นพ.ประดิษฐกล่าว
ชมรมแพทย์ชนบทยังมีคำถามเรื่องเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐหรือซีเอสอาร์ ที่ รพ.คู่ค้าที่ชำระเงินตามกำหนดเวลาจะได้เงินพัฒนาต่างๆ ร้อยละ 5 ซึ่งมีข่าวว่ากระทรวงได้ให้ อภ.โอนเงิน 75 ล้านมายังกระทรวง นพ.ประดิษฐชี้แจงว่า มาจากระเบียบในสมัยอดีต ว่ากรณีคู่ค้าจ่ายเงินตรงเวลาก็มีเงินเพื่อส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่ง อภ.ก็จ่ายแบบนี้มาตลอด แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทักท้วงว่า เงินจำนวนนี้ไม่ควรมี เพราะในฐานะ รพ.สังกัดภาครัฐ ต้องจ่ายเงินให้ตรงเวลาอยู่แล้ว ซึ่งหากจะมีควรจ่ายให้ถูกต้องในแง่ภาพรวมของราชการ ไม่ใช่การจ่ายให้ รพ.คู่ค้า ซึ่งเหมือนไปซื้อยา เพื่อหวังเงินจำนวนนี้ทอนมา
"เพื่อแก้ปัญหานี้ ขอให้ทุกหน่วยงานทำตามระเบียบพัสดุต่างๆ จะได้ไม่มีข้อครหา และเพื่อให้ชัดเจนหากจะสนับสนุนกระทรวง ต้องเป็นไปในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะเจาะจง ซึ่งผมมองว่าหากต้องการให้โปร่งใส เป็นธรรมจริงๆ ควรมีการตรวจสอบระบบการเงินของ อภ. ตรวจสอบให้หมด ให้โปร่งใส ว่ามีใครถูกผิด โดยผมได้ขอให้ปลัด สธ.ทำหนังสือให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย" นพ.ประดิษฐกล่าวทิ้งท้าย
แม้พีฟอร์พีจบไป แต่ปัญหา อภ.ยังรอคุกรุ่นขึ้นอีก
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 มิถุนายน 2556
- 4 views