ผลเจรจารัฐบาลยกแรก แพทย์ชนบทยันไม่เอา "ประดิษฐ" จี้ "ยิ่งลักษณ์" ตั้ง "ชลน่าน" รักษาการแทน ด้านรัฐบาลยอมอ่อนข้อตั้ง กก.ตรวจสอบกระบวนการปลด "หมอวิทิต" พ้นบอร์ด อภ. ขณะที่ข้อเสนอด้านอื่นไม่ลงตัว เตรียมถกต่อ 6 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 300 คน ได้มอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และสนับสนุนนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) โดย นพ.ประดิษฐกล่าวขอบคุณ และฝากให้พูดดังๆ เสียงจะได้ไปถึงชนบท
ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. นพ.ประดิษฐได้เปิดโต๊ะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นที่ได้มีการเจรากับเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มาร่วมฟังการแถลงข่าวด้วย ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ได้มีการตกลงกันว่าข้อเสนออะไรที่รับได้ ตกลงกันได้ ก็รับกันไป เช่น การตั้งทีมเข้าไปดูข้อมูลกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เรื่องการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ต้องมีการนำเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อีกครั้ง เรื่องไหนตกลงไม่ได้ก็ต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น การเก็บ 30 บาท หรือที่ระบุว่าตนเป็นปัญหาจะต้องออกไป ก็เอาข้อมูลมาว่าตนไปคอรัปชั่นที่ไหน ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องมาพูดคุยกันว่าไปทำแล้วติดขัดอย่างไรในวันที่ 6 มิ.ย.
"ข้อเรียกร้องให้ผมพ้นจากตำแหน่งนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะมีเหตุผล เพราะว่าได้มีการพิสูจน์ทุกเรื่อง หรือยินดีให้ตรวจสอบ แต่ก็อยากเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบด้วยว่ามีคนไหนเข้าไปเป็นผู้บริหาร รพ.เอกชนหรือไม่ และมีคนไหนเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทยาของเอกชนซึ่งเป็นผู้รับจ้างของ อภ.หรือไม่ จะได้มีความเท่าเทียมกัน หรือผมเข้าไปรับเงินสวัสดิการ หรือเงินซีเอสอาร์ของ อภ.มาเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็ต้องตรวจสอบว่าเงินไปเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ ใครผิดว่าไปตามผิด เพราะตกลงกันแล้วว่าทุกเรื่องต้องตรวจสอบได้" นพ.ประดิษฐกล่าว
นพ.ประดิษฐกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ อภ. มีระเบียบที่ชัดเจนว่าเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐนั้นควรตั้งเป็นเงินเพื่อกิจกรรมทางสังคม (CSR) และจะให้ สธ.จำนวนเท่าไหร่ ให้ สปสช.เท่าไหร่ แต่ยังมีข้อกังขากันอยู่ เลยตกลงกันว่าจะต้องตรวจสอบเงินที่ได้มาทุกชนิดของ อภ. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัด สธ.ทำหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ตรวจสอบเพื่อป้องกันข้อครหา
ในวันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 14.30 น. นพ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ได้มีการพูดคุยกันจนถึง 5 ทุ่ม ประเด็นใหญ่คือ 1.การคัดค้านการร่วม จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ 2.การยกเลิกการ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3.การเรียกร้องให้ นพ.ประ ดิษฐหยุดแทรกแซงการบริหารงานภาย สปสช. เพราะไม่ต้องการให้ สธ.เข้าไปรวบอำนาจ หรือแย่งบทบาทผู้ซื้อบริการ 4.การให้ความเป็นธรรมกับ นพ.วิทิต ซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความชอบธรรมในการ กล่าวหาเรื่องวัตถุดิบพาราเซตามอล ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯ โดยกำหนดตัวคณะกรรมการ 7 คน คาดว่าจะเสนอให้ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธาน และ 5.การคัดค้านพีฟอร์พี ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อยุติและต้องเจรจาต่อในวันที่ 6 มิ.ย. ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเปลี่ยนมาใช้พีฟอร์พีจะทำให้แพทย์ที่อยู่ในชนบทไม่มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้น สธ.จะต้องกลับมาใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 ตามเดิม หากการเจรจาวันที่ 6 มิ.ย. ไม่เป็นผลจะมีการชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 มิ.ย.นี้แน่นอน
"สรุปแล้วในวันพรุ่งนี้จะมีการเจรจากันใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การเรียกร้องให้หยุดรวบอำนาจและการแทรกแซง สปสช. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเป็นธรรม องค์การเภสัชกรรม และพีฟอร์พี แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะต้องปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เบื้องต้นในการเจรจาถ้าไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็ต้องมาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งเป้าหมายสูงสุดที่จะชุมนุมวันที่ 6 มิ.ย. ก่อนหน้านี้คือเราต้องการให้นายกฯ ใช้อำนาจเหนือ รมว.สธ. แต่ช่วงก่อนการชุมนุมมีการส่งคนมาเจรจา เราถือว่าเป้าหมายสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ส่วนการเจรจาวันพรุ่งนี้จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวนายกฯ หากบอกว่าในเรื่องของตัวบุคคลนั้นรอให้มีการปรับ ครม.ก่อน ตรงนี้เรายอมรับได้ แต่ถ้าพีฟอร์พีต้องเลื่อนออกไปประมาณ 6 เดือน เรายอมรับไม่ได้ แต่หากบอกว่ารอเอาเข้า ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ อย่างนี้ยอมรับได้ และขอยืนยันว่าต้องกลับมาให้ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 เหมือนเดิม
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ได้มีการหารือกันของชมรมแพทย์ชนบทใน 7 จังหวัดภาคใต้ถึงประเด็นทางการเมืองด้วย โดยเห็นว่าวันนี้ นพ.ประดิษฐเป็นผู้ที่เสื่อมศรัทธาแล้ว ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารงานอีกต่อไป เราไม่ขอเจรจาด้วย ไล่กันขนาดนี้แล้วจะมาคุยอะไรกันอีก เพราะฉะนั้นอยากให้นายกฯ แขวน นพ.ประดิษฐไว้ แล้วตั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สธ. เป็นรักษาการ รมว.สธ. ตรงนี้เรายอมรับได้ อย่างน้อยก็ได้คุยกัน
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 6 มิถุนายน 2556
- 17 views