เจรจานอกรอบส่อเหลว หลัง"หมอประดิษฐ" -"ชมรมแพทย์ชนบท" ต่างเสียงแข็งแจงข้อมูลคนละทาง ทั้งประเด็นตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการปลด"หมอวิทิต" และปมปรับจ่ายพีฟอร์พี ย้ำชัด สธ.ต้องกลับมาใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 เหมือนเดิม พร้อมจี้นายกฯ เปลี่ยนตัว รมว.สาธารณสุข
วานนี้( 5 มิ.ย.) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 300 คน ได้เดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุข เข้ามอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) โดยนพ.ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมนอกรอบกับแพทย์ชนบทและเครือข่ายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้มีการตกลงกันว่าข้อเสนออะไรที่รับได้ก็จะเร่ง ดำเนินการ เช่น การตั้งทีมเข้าไปดูข้อมูลกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ซึ่งเป็นการเข้าไปดูข้อมูลความโปร่งใสและความเป็นธรรมในขั้นตอนดำเนินการ อันไหนไม่เข้าใจหรือสงสัยก็ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบใหม่ได้ เพราะขั้นตอนเหล่านี้สรุปผลเรียบร้อยแล้ว
ส่วนเรื่องการร่วมจ่ายต้องมีการนำเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)อีกครั้ง เรื่องไหนตกลงไม่ได้ก็ต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น การเก็บ 30 บาท หรือที่ระบุว่าตนเป็นปัญหาจะต้องออกไป ก็เอาข้อมูลมาว่าตนไปคอร์รัปชันที่ไหน ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องมาพูดคุยกันว่าไปทำแล้วติดขัดอย่างไรในวันที่ 6 มิ.ย.
"ข้อเรียกร้องให้ผมพ้นจากตำแหน่งนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะมีเหตุผล เพราะว่าได้มีการพิสูจน์ทุกเรื่อง หรือยินดีให้ตรวจสอบ แต่ก็อยากเรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบด้วยว่ามีคนไหนเข้าไปเป็นผู้บริหาร รพ.เอกชนหรือไม่ และมีคนไหนเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทยาของเอกชนซึ่งเป็น ผู้รับจ้างของ อภ.หรือไม่ จะได้มีความเท่าเทียมกัน หรือผมเข้าไปรับเงินสวัสดิการ หรือเงินซีเอสอาร์ของ อภ.มาเข้ากระเป๋าตัวเองก็ต้องตรวจสอบว่าเงินไปเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ ใครผิดว่าไปตามผิด เพราะตกลงกันแล้วว่าทุกเรื่องต้องตรวจสอบได้" นพ.ประดิษฐ กล่าว
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ได้มีการพูดคุยกันจนถึง 5 ทุ่ม ประเด็นใหญ่ คือ 1.การคัดค้านการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ 2.การยกเลิกการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3.การเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ หยุดแทรกแซงการบริหารงานภาย สปสช. เพราะไม่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปรวบอำนาจ หรือแย่งบทบาทผู้ซื้อบริการ
4.การให้ความเป็นธรรมกับ นพ.วิทิต ซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความชอบธรรม ในการกล่าวหาเรื่องวัตถุดิบพาราเซตามอล ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีน โดยกำหนดตัวคณะกรรมการ 7 คน คาดว่าจะเสนอให้ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และ 5.การคัดค้านระบบพีฟอร์พี ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อยุติและต้องเจรจาต่อในวันที่ 6 มิ.ย.ยืนยันว่าการเปลี่ยนมาใช้พีฟอร์พี จะทำให้แพทย์ที่อยู่ในชนบทไม่มีแรงจูงใจการปฏิบัติงาน ดังนั้น สธ.จะต้องกลับมาใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 ตามเดิม ซึ่งหากการเจรจาวันที่ 6 มิ.ย. ไม่เป็นผล ก็จะมีการชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน
"สรุปแล้วในวันพรุ่งนี้จะมีการเจรจากันใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การเรียกร้องให้หยุดรวบอำนาจและการแทรกแซง สปสช. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเป็นธรรม องค์การเภสัชกรรม และพีฟอร์พี แต่อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะต้องปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งเพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในการบริหารงานที่ปฏิบัติกันอยู่ถ้าผู้บริหารก่อให้เกิดความเสียหาย และก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร เช่น นโยบายพีฟอร์พีที่ขาดการมีส่วนร่วม ผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าคือนายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาดำเนินการ ดังนั้นการพูดคุยในวันที่ 6 มิ.ย.จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวนายกฯ ถ้าบอกว่าการปรับรัฐมนตรีออกต้องรอให้มีการปรับครม.ก่อน ตรงนี้เรายอมรับได้ แต่ถ้าพีฟอร์พีต้องเลื่อนออกไป 6 เดือน ยอมรับไม่ได้ แต่หากบอกว่ารอเอาเข้า ครม.ในอีก 2 สัปดาห์อย่างนี้ยอมรับได้ ยืนยันว่าต้องกลับไปใช้ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 เหมือนเดิม
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ชมรมโรงพยาบาลชุมชนออกแถลงการณ์ ประเด็นเกี่ยวกับค่าตอบแทนพีฟอร์พี โดย นพ.จิรโรจน์ ธีรเดชธนพงศ์ ผอ.รพช.บางเลน ประธานชมรมโรงพยาบาลชุมชน ระบุว่า จากการประชุมร่วมกันภายในชมรม สรุปเป็นมติ ดังนี้ 1.การประกาศใช้พีฟอร์พีในโรงพยาบาลชุมชน ดำเนินการรีบด่วนอย่างมาก ผอ.รพช.ทราบเรื่องเมื่อกุมภาพันธ์ 2556 หรือเพียงเวลาต่ำกว่า 1 เดือน ตั้งตัวไม่ติด 2.พีฟอร์พีที่กระทรวงประกาศให้ใช้ยังเป็นเพียงเกณฑ์กว้างๆ ไม่มีเกณฑ์ชัดเจนที่ปฏิบัติได้ในโรงพยาบาลชุมชน การให้โรงพยาบาลไปคิดเกณฑ์เอง เสี่ยงต่อการผิดระเบียบการจ่ายเงินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ 3.ขอให้ชะลอการทำพีฟอร์พีในโรงพยาบาลชุมชนออกไปประมาณ 6 เดือน
4.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เป็นข่าว อ้างพีฟอร์พีเพื่อให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง 5.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เป็นข่าวของบางกลุ่มในเรื่ององค์การเภสัชกรรม และ สปสช.ที่ออกจากกรอบเรื่องพีฟอร์พีและเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 6.เบี้ยเลี้ยงของโรงพยาบาลชุมชนมีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาขาดบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน ควรปรับแต่ไม่ควรมีทิศทางยกเลิก และ 7.ขอให้กระทรวงดำเนินการแยกตัวจาก กพ. เพื่อให้มีการบริหารบุคลากรสาธารณสุขที่สอดคล้องกับลักษณะงานเฉพาะของงานด้านการตรวจรักษาและงานสาธารณสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
- 4 views