สธ.ชง ครม.ประกาศวาระแห่งชาติ ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เพื่อเป็นการรองรับการจัดระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือของทุกองค์กรทั้งในและนอกชุมชน ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 4 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขออนุมัติและประกาศนโยบาย “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง”(พ.ศ. 2556 - 2558) เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ขออนุมัติและประกาศนโยบาย “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง” (พ.ศ. 2556 -2558) เป็นวาระแห่งชาติ 2. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เชื่อมประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและดำเนินงานตามนโยบายฯ 3. มอบหมาย/สนับสนุนให้หน่วยงาน/องค์กรภาคี ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแผนงาน/โครงการ และงบประมาณ สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง” (พ.ศ.2556-2558) เป็นวาระแห่งชาติด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการประกาศนโยบาย “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง”(พ.ศ. 2556 - 2558) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการการเสริมพลัง โดยใช้ศักยภาพทุนทางสังคม ใช้ทักษะความสามารถและทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่กับระบบสนับสนุนของหน่วย งาน/องค์กรต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ในทางบวก ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของชุมชน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. แนวคิดและหลักการสำคัญ “ระบบสุขภาพชุมชน” มีความหมายกว้างและเชื่อมโยงขยายครอบคลุมไปถึงระบบร่วมของความเป็นสาธารณสุข และความเป็นชุมชน ที่ต้องร่วมกันสร้างสังคมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ มีสังคมที่เกื้อกูลกันและมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมากกว่าการปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย การจัดบริการสุขภาพ การมีโรงพยาบาลใกล้บ้าน การมีบุคลากรที่เพียงพอ ฯลฯ เท่านั้น และระบบสุขภาพชุมชนหรือสุขภาวะชุมชน มิอาจเกิดขึ้นได้เฉพาะบุคคลและครอบครัว แต่ต้องเกิดเป็นสุขภาวะร่วมของชุมชน หรือสังคมโดยรวม จึงจะยั่งยืนได้ 2. วัตถุประสงค์ 2.1 เพื่อพัฒนานโยบายและวาระร่วมระดับชาติ (National agenda) ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง 2. เพื่อขับเคลื่อนกลไกและเครือข่ายความร่วมมือของทุกองค์กร ทั้งในและนอกชุมชนท้องถิ่นในการร่วมบริหารจัดการระบบสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
2.2 เพื่อเชื่อมโยงและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการใหม่ (New management) กิจกรรมและกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ ในชุมชนโดยชุมชนให้หนุนเสริมซึ่งกันและกันเป็นองค์รวม (Holistic approach) ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 3. เป้าหมายของการพัฒนา คือ ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาที่สำคัญในระดับชุมชน ซึ่งจุดเคลื่อนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น จะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่โดยให้ “ทุกชุมชนเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและบูรณาการ” ที่สามารถแสดงบทบาทในการจัดระบบสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สภาพแวดล้อมและสังคมในมิติต่าง ๆ โดยรวม ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดี (แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย) สร้างรายได้จากการพึ่งพาตนเองและการออมในชุมชน (แก้ไขปัญหาความยากจน) สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในพื้นที่และระหว่างพื้นที่ (แก้ไขปัญหาความไม่รู้)
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนา 4.1 ยุทธศาสตร์การปรับบทบาทและศักยภาพใหม่ของบุคลากรและแกนนำ 4.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ (การพัฒนาเชิงบูรณาการทั้งระดับนโยบายและยุทธศาสตร์) 4.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายผลการพัฒนา 4.4 ยุทธศาสตร์การสร้างและบริหารความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเครือข่าย 4.5 ยุทธศาสตร์การสร้าง/ปรับระบบสนับสนุนที่ดีทั้งภายในและระหว่างองค์กร
5. กระบวนการพัฒนา ที่สำคัญในการจัดการระบบสุขภาพชุมชนที่เชื่อมโยงไปยังมิติต่าง ๆ คือ 5.1 พัฒนากลไก กระบวนการความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ทั้งในระดับชาติไปจนถึงชุมชนท้องถิ่นในการร่วมบริหารจัดการระบบสุขภาพชุมชน แบบบูรณาการ 5.2 พัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเน้นจากปัญหาและความต้องการของพื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ (ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับประโยชน์) 5.3 เสริมสร้างศักยภาพบุคลากร ผู้นำ และแกนนำของชุมชนให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนา ตามแนวทางของการจัดการตนของชุมชน (การประกอบการทางสังคม) ในกิจกรรมต่างๆ 5.4 สร้างเครือข่ายและสร้างกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนผ่านการปฏิบัติจริงในพื้นที่และระหว่างพื้นที่หรือข้ามพื้นที่เพื่อการขยายผลการพัฒนาให้กว้างขวางมากขึ้น 5.5 ติดตาม กำกับ ประเมินผลและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาแบบเสริมพลังชุมชน
6. ตัวชี้วัดเชิงผลผลิต โดยกำหนดตัวชี้วัดตามเป้าหมายเชิงพื้นที่ การมีกลไกกระบวนการความร่วมมือแบบบูรณาการ ในระดับชุมชน มีและดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการจัดการระบบสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง ที่ดำเนินการโดยชุมชน 7. ผลลัพธ์ที่คาดหวัง (1) ชุมชนมีสุขภาพดี (Healthy community) มีกลไกองค์กร/เครือข่ายดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมอย่างเข้มแข็ง อัตราป่วย/ตาย ด้วยโรคติดต่อและไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง ฯลฯ (2) ชุมชนมีกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (Healthy public policy)(3) ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการใช้พลังงานที่ประหยัดและสะอาด (Green community)(4) ชุมชนมีการพัฒนาอาชีพและรายได้ ที่นำไปสู่การแก้ไขความยากจน (Poverty eradication)(5) ชุมชนมีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Learning community)
สธ. เห็นว่า เพื่อเป็นการรองรับการจัดระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือของทุกองค์กรทั้งในและนอกชุมชน ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง จึงเห็นควรให้มีการประกาศแนวคิดและหลักการสำคัญการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ว่าด้วย “ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง” (พ.ศ.2556-2558) เป็นวาระแห่งชาติ ภายในปีงบประมาณ 2556.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 3 views