สธ.เผยพฤติกรรมวัยรุ่นไทยน่าห่วง ร้อยละ 5 พึ่งยาลดความอ้วน ติดยานอนหลับเกือบร้อยละ 2 และเข้าวงการนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่เมื่ออายุเพียง 16 ปี...
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.56 ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดอบรมหลักสูตรยุวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือยุว อสม. ประจำปี 2556ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 9,514 คน รวมทั้งครูสอนสุขศึกษา อนามัย และพลศึกษาจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 174 แห่งเพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบสุขภาพ เป็นนักจัดการสุขภาพในโรงเรียน พร้อมทั้งเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับเพื่อนนักเรียนเยาวชน ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนสุขภาพดี
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้รับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ ให้เยาวชนมีศักยภาพ มีสมรรถภาพในการเรียนการศึกษาอย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาสุขภาพของเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงเจ็บป่วยในหลายเรื่อง และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าในอดีต ผลสำรวจในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-29 ปี ล่าสุดในปี 2552 พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.พฤติกรรมใช้ยาไม่ถูกต้อง พบว่าวัยรุ่นกินยาลดความอ้วนร้อยละ 5 กินยานอนหลับเป็นประจำเกือบร้อยละ 2 ทั้งที่มีและไม่มีอาการเครียดก็ตาม 2.พฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่านักเรียนชายเริ่มสูบบุหรี่อายุ 16 ปี เริ่มดื่มเหล้าเมื่ออายุเฉลี่ย 16.2 ปี ส่วนนักเรียนหญิงเริ่มสูบบุหรี่อายุเฉลี่ย 16.7 ปี เริ่มดื่มเหล้าอายุเฉลี่ย 17.8 ปี ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศง่ายขึ้น
3.พฤติกรรมการกินอาหาร พบว่าวัยรุ่นไม่กินอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้อสำคัญที่สุดมากถึงร้อยละ 65 และกินอาหารไม่ครบ 3 มื้อมากที่สุดถึงร้อยละ 72ซึ่งพฤติกรรมนี้เพิ่มความเสี่ยงให้วัยรุ่นอ้วน จากการกินจุบกินจิบอาหารอื่นผลสำรวจในปี 2551 พบนักเรียนระดับมัธยมเป็นโรคอ้วนแล้ว 1.4 ล้านคนอีกร้อยละ 10 มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าเด็กปกติ และ 4.การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร พบว่าเกิดในวัยรุ่นมากถึง 1 ใน 10 จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขป้องกัน ปลูกฝังความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้ถูกต้อง
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ โดยพัฒนาให้เป็นยุว อสม.ในโรงเรียน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพขั้นต้นในโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และจะพัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความสนใจของเยาวชน เช่น การป้องกันยาเสพติด การเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาในเยาวชนและป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคต เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่หากมีปัญหามักจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าผู้ปกครอง และโครงการยุว อสม.นี้ จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของไทย เช่น เบาหวาน ให้บรรลุผลสำเร็จง่ายขึ้น
ทางด้านนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า หลักสูตรในการอบรมยุว อสม.นี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 วัน โดยอบรมให้มีทักษะและความฉลาดทางสุขภาพ รู้เท่าทัน 6 เรื่อง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย เช่น เครื่องสำอาง ยาลดความอ้วน 2. ยาเสพติด 3. อาหาร 4. สุขภาพจิต 5. การปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และ 6. การสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้ยุว อสม.ถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคภัยและวิธีการป้องกันต่างๆ ไปสู่ผู้อื่น หลังจากผ่านการอบรมแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง และยุว อสม.เหล่านี้จะถือเป็นต้นแบบด้านสุขภาพของนักเรียน เป็นผู้ช่วยเหลือ จัดบริการสุขภาพร่วมกับครู อาจารย์ โดยจะเป็นนักจัดกิจกรรมสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งเป็นผู้เชื่อมต่อประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในชุมชน เช่น อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพในโรงเรียนเข้มแข็ง และขยายผลถึงครอบครัวและชุมชนของยุว อสม.ด้วย โดยให้ครู-อาจารย์เป็นที่ปรึกษายุว อสม. 1 คน ดูแล 1 ห้องเรียน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะขยายอบรมรุ่นต่อไปอีกประมาณ 10,000 คน และอาจขยายผลอบรมเด็กระดับประถมศึกษาด้วย เพื่อปลูกฝังวินัยการดูแลสุขภาพให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็กติดตัวตลอดชีวิต
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 66 views