ปลัดสธ. กำชับรพ.ทุกแห่ง ดูแลผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออกตามมาตรฐาน ย้ำหากประชาชนหรือบุตรหลานมีไข้ 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ไม่ไอ รีบไปพบแพทย์ ชี้ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตแล้ว 40 ราย เหตุเสียชีวิตส่วนใหญ่มาโรงพยาบาลช้า
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแลผู้ป่วยอาการน่าสงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก เพื่อให้การดูแลรักษาตามมาตรฐาน พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ให้ความรู้ประชาชนถึงสัญญาณอาการไข้เลือดออกคือ เป็นไข้ 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไปรักษาที่โรงพยาบาลช้า เพราะเสียเวลาตระเวนรักษาหลายคลินิกแล้วไม่ดีขึ้น กำชับทุกอำเภอทั่วประเทศเร่งควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะโรงเรียน โรงงาน สถานที่ทำงาน คาดสถานการณ์ปีนี้จะรุนแรง รอบ 5 เดือนปีนี้ มีผู้ป่วยสะสมกว่า 35,000 ราย เสียชีวิต 40 ราย พร้อมทั้งขอแรงนักเรียนเป็นทีมตรวจเฝ้าระวังลูกน้ำยุงในบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล
วันนี้ (28 พฤษภาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ เพื่อ ติดตามความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดเร่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดจำนวนยุงให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าฤดูฝน แต่จากการติดตามประเมินสถานการณ์รอบ 5 เดือนปีนี้ พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงมาก ตั้งแต่เดือนมกราคม – 29 พฤษภาคม 2556 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยสะสม 35,150 ราย เสียชีวิต 40 ราย พบผู้ป่วยทุกจังหวัด ป่วยทั้งเด็กผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยร้อยละ 50 อายุเกิน 15 ปี จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละกว่า 2,000 ราย หากทุกฝ่ายทั้งภาคราชการ เอกชน ประชาชน ไม่ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายตามภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อยุงลาย คาดตลอดปีนี้จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นนับแสนราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัว จัดว่าสูงเป็นประวัติการณ์ของประเทศตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน–สิงหาคม 2556 ซึ่งถือว่าเป็นช่วง 90 วันอันตรายของการระบาดโรคไข้เลือดออก จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกจะเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเข้มข้นเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ได้กำชับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการในข่ายสงสัยจะเป็นไข้เลือดออก คือไข้สูงติดต่อกัน 2 วัน ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก และให้การดูแลรักษาตามมาตรฐาน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ให้ความรู้ประชาชนในการสังเกตอาการบุตรหลานที่มีอาการที่กล่าวมา เพื่อพาไปรับการรักษาโดยเร็ว เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมีอาการหนักแล้วเมื่อไปโรงพยาบาล เนื่องจากไปตระเวนรักษาหลายคลินิกก่อนแล้วไม่ดีขึ้น ทำให้มีอาการรุนแรง จึงไม่สามารถรักษาชีวิตได้ทัน ซึ่งโรคนี้รักษาได้ แพทย์ทุกคนมีความรู้และมีประสบการณ์รักษาอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ทุกอำเภอเร่งควบคุมป้องกันโรค โดยเน้นให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ให้มากที่สุดและทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ทำงาน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับสำนักงานควบคุมป้องกันโรคประจำเขต ติดตามประเมินผลคุณภาพการจัดการปัญหาในแต่ละอำเภอและเทศบาลอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ และให้หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มี 1,030 ทีมลงพื้นที่ควบคุมโรคทีนทีเมื่อมีรายงานผู้ป่วย และพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ในรัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่
ทางด้านนายแพทย์ โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กทม. เป็นต้น ร่วมประชุมเพื่อขยายความร่วมมือการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก
โดยได้ขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้นักเรียนร่วมเป็นกำลังในการสำรวจตรวจสอบและกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน โรงเรียน รวมทั้งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของยุงลาย โดยเฉพาะเศษภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กล่องโฟม กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์ ต้องเก็บทิ้งอย่าให้มีน้ำขัง ส่วนแจกันพลูด่าง ไม้ประดับต่างๆ ในบ้าน ต้องเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือครูทุกโรงเรียน ตรวจคัดกรองเด็กที่ป่วยไข้เลือดออก โดยให้สอบถามอาการไข้ของเด็กนักเรียนทุกวัน หากเป็นไข้สูง 2 วัน ขอให้นำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมการแพทย์ทบทวนปรับปรุงแนวทางการรักษาให้แก่แพทย์ ทั้งรัฐและเอกชนให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งแพทย์รักษาเด็กและผู้ใหญ่
ทั้งนี้ การควบคุมป้องกันไข้เลือดให้ได้ผลดีที่สุด ต้องอาศัยความร่วมมือประชาชนทุกคน เพราะยุงลายกว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในบ้าน อาคารต่างๆ และชอบมุมมืด อีกร้อยละ 10 อยู่รอบบ้าน โดยผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งว่าขณะนี้ได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัด 23,000 แห่ง ดำเนินการตาม 10 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กำจัดขยะ ขัดล้างภาชนะบรรจุน้ำ ฉีดพ่นฆ่ายุงลายตัวเต็มวัยด้วยน้ำยาล้างจานผสมน้ำ จัดตั้งนักเรียนอาสาตรวจลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน เป็นต้น
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 2 views