'แพทย์ชนบท'วอนผู้บริหาร สธ.ยกเลิกนโยบาย'พีฟอร์พี' กับบุคลากรใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศ ชี้ไทยไม่พร้อม แนะปรับรูปแบบใหม่เน้นความสมัครใจ
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีวิชาการ "วิกฤต P4P: ระดมพลังปัญญาร่วมหาทางออก" ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ทั้งนี้ นพ.ยงยุทธ์ พงษ์สุภาพ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) ไม่ใช่การทำงานมากแล้วจะได้ค่าตอบแทนมากเสมอไป แต่ต้องช่วยลดการให้บริการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการ และการจ่ายก็สามารถจ่ายได้ทั้งระดับบุคคล เป็นทีม และภาพรวมของทั้งระบบ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ระบบข้อมูลยังคงมีความอ่อนแอ หากเร่งดำเนินการจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับบุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม หากคณะผู้บริหาร สธ.เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ จะต้องทำในรูปแบบกึ่งทดลอง หรือการดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจเท่านั้น
ทางด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นพีฟอร์พีนั้น หากเป็นการดำเนินการโดยความสมัครใจ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เพราะข้อเท็จจริงคือ เป็นนโยบายของคณะผู้บริหาร สธ.ที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่บังคับให้ดำเนินการ
"จนถึงขณะนี้ ยืนยันได้ว่าโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศยังไม่มีแห่งใดเดินตามนโยบายนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นนโยบายที่สร้างความแตกแยกในวิชาชีพ และยังเน้นล่าแต้ม ทำให้จิตวิญญาณของแพทย์เสื่อมหาย ที่สำคัญเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ถูกตัดเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยเฉพาะแพทย์นั้นย่อมทำให้ขาดขวัญกำลังใจในการเป็นแพทย์ประจำชุมชน ผลที่ตามมาคือ เกิดปัญหาแพทย์สมองไหล" นพ.สุภัทรกล่าว และว่า เป็นเวลา 2 เดือน ที่โรงพยาบาลชุมชนได้คัดค้านนโยบายนี้มาตลอด ทั้งประท้วงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ที่หน้าบ้าน นายกรัฐมนตรี
นพ.สุภัทรกล่าวอีกว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพียงแต่อยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟังปัญหา เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร สำหรับนโยบายพีฟอร์พีนั้น บุคลากรทางการแพทย์ต้องการให้ผู้บริหาร สธ.ใช้แนวนโยบาย 2 ระบบ คือ ขอให้ยกเลิกวิธีคิดแบบพีฟอร์พี หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป หากยินดีกับนโยบายนี้ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
- 2 views