"หมอชลน่าน" รับไม้ต่อ เตรียมเสนอวาระจรปลดหมอวิทิตเข้า ครม. 21 พ.ค. "เอ็นจีโอ" เปิดเว็บไซต์ล่ารายชื่อจี้ ครม.ตีกลับให้บอร์ดพิจารณาใหม่ เผยพิรุธการประชุมเมื่อ 17 พ.ค. 2 ประธานคณะ กก.สอบข้อเท็จจริงรายงานปากเปล่า ไร้เอกสารประกอบ แถมไม่เปิดโอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระ ทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเสนอวาระเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องนี้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ได้ลงนามไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 พ.ค. และมอบหมายให้ตนเป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม. ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะฉะนั้นเสนอเข้าวาระปกติไม่ทัน แต่จะเสนอเข้าวาระจรแทน
นางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด อภ. เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวาระการปลด นพ.วิทิตออกจากตำแหน่งนั้นมีความผิดปกติหลายประการ อย่างแรกคือ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ปลัด สธ. มาร่วมประชุมเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งไม่รู้ว่าทราบรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ในวาระดังกล่าวยังไม่มีเอกสารสรุปผลการสอบสวน ทั้งกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และกรณีก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มีเพียง นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีสำรองวัตถุดิบยาพาราฯ และ นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ มาอธิบายด้วยปากเปล่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ที่สำคัญยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงความบริสุทธิ์ตามระเบียบที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำสั่งปลด นพ.วิทิตจะมีผลก็ต่อเมื่อ ครม.ให้การรับรอง ดังนั้น ตนจึงได้เปิดเว็บไซต์ www.change.org/th เพื่อรวบรวมรายชื่อคัดค้านการปลด นพ.วิทิต และอยากให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ครม.ตีกลับวาระดังกล่าวไปให้บอร์ดพิจารณามาใหม่ ไม่ใช่ว่าใครเสนออะไรมาก็รับหมด ไม่เช่นนั้นจากที่เป็นความผิดของบอร์ด อภ. ก็จะกลายเป็นความผิดของ ครม.
นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงาน อภ. กล่าวว่า แม้ นพ.ประดิษฐ รมว.สธ. จะออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าไม่ได้มีการความพยายามเข้าไปแทรกแซง อภ. เพื่อหวังผลสู่การแปรรูป อภ. แต่การกระทำในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากระบวนการต่างๆ นั้นมุ่งหวังผลไปสู่การแปรรูป อภ.อย่างแน่นอน ดังนั้นในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ทางสหภาพ อภ. และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะจัดเสวนาหัวข้อการเปลี่ยนแปลงระบบยาไทย เพราะเห็นว่าการปลด นพ.วิทิตออกจากตำแหน่งนั้นเชื่อมโยงความพยายามในการทำให้ อภ.อ่อนแอ โดยในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมเพื่อสรุปแผนการที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการคืนวัตถุดิบพาราฯ ให้กับประเทศจีนว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ทาง หจก.พ. (ขอสงวนชื่อจริง) ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายวัตถุดิบพาราฯ ให้กับ อภ. และโรงงานเภสัชกรรมทหาร (รภท.) ได้ทำหนังสือถึง อย. เพื่อแจ้งว่าจะมีการส่งคืนวัตถุดิบจำนวน 13,250 กก. หรือ 13.25 ตัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุดิบ 148 ตันของ อภ.แต่อย่างใด
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการระบุว่าโรงงานผลิตวัตถุดิบพาราฯ ในประเทศจีนได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรป นพ.บุญชัยกล่าวว่า มีเอกสารรับรองของ อย.สหรัฐและยุโรปแล้ว ส่วนออสเตรเลียไม่มีเอกสาร และเท่าที่ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวก็ขายวัตถุดิบพาราฯ ให้กับหลายประเทศ
ขณะเดียวกัน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการโยกงบประมาณสนับสนุนกิจการภาครัฐของ อภ. ที่เดิมต้องจ่ายให้กับ สปสช. มาจ่ายให้กับ สธ.แทนว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ผิดระเบียบแต่อย่างใด ซึ่งการโยกงบประมาณดังกล่าวนั้นก็เนื่องจากว่า สปสช.ต้องการให้งบประมาณดังกล่าวลงไปสู่เกิดประโยชน์ต่อหน่วยบริการอย่างแท้จริง จึงให้ สธ.ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยบริการเป็นผู้พิจารณาของบแทนที่จะเป็นสปสช.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556
- 4 views