บอร์ด อภ.มีมติเป็นเอกฉันท์ปลด'หมอวิทิต' ยก 3 เหตุหลักเลิกจ้าง สังเวยซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ สร้าง รง.วัคซีน
คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ที่มี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน ประชุมที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ การสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก/ยาต้านไวรัสเอดส์ล่าช้า และวาระการเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. โดยบอร์ดทั้งหมด 14 คน เข้าประชุม 13 คน ยกเว้น นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์
นพ.พิพัฒน์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมที่ใช้เวลาเกือบ 6 ชั่วโมงว่า บอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าผู้อำนวยการ อภ.บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างคือ อภ.เห็นควรเลิกจ้าง ยุติสัญญาจ้าง โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งโดยเร็วที่สุด ระหว่างนี้บอร์ดมีมติให้ นพ.วิทิตยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าจะมีมติ ครม.หรือมีคำสั่งเป็นอื่น โดยไม่มีการจ่ายชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น และมอบหมายให้ ภญ.พิศสมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการ อภ.รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.จนกว่าจะได้ผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ด้วยการสรรหา
นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า ตามสัญญาจ้างระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกจ้าง ในกรณีนี้บอร์ดพิจารณาเห็นว่า ควรเลิกจ้างด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ 1.จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหาย 2.ประมาทเลินเล่อทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหาย และ 3.ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือวินัยของพนักงาน อภ. หรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และผู้ว่าจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งนี้ หนังสือเตือนมีผลบังคับใช้ไม่เกิน 180 วัน นับแต่ที่ผู้รับจ้างได้กระทำความผิด เว้นแต่กรณีร้ายแรงผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
"หลังจากบอร์ดชุดนี้ได้มาทำหน้าที่เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นข้อบกพร่องในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯที่มีความล่าช้า จึงได้ติดตามเรื่องและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดแรก เมื่อพบใครบกพร่องจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกหนึ่งชุด หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเกี่ยวข้องกับพนักงานคนใดจะตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย ถ้าพบว่ามีการทุจริตจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป" นพ.พิพัฒน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องรอผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ชี้มูลความผิด นพ.วิทิต ในคดีการจัดซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอล และการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนฯ ใช่หรือไม่ นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า เป็นคนละประเด็น สิ่งที่บอร์ดพิจารณาเปรียบเหมือนการพิจารณาวินัยของข้าราชการ ส่วน ป.ป.ช. หรือดีเอสไอตรวจสอบเป็นเรื่องทางอาญา
ด้าน นพ.วิทิตกล่าวว่า ทราบเรื่องที่จะถูกปลดมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเป็นเพียงลูกจ้างของ อภ. ไม่ใช่ข้าราชการ เมื่อไม่ถูกจ้างคงต้องถูกปลดออก ถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น นอกจากปรึกษากับฝ่ายกฎหมายว่า จะทำอย่างไร ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. ได้ทำงานและทำหน้าที่ร่วมกับทีมงานใน อภ.อย่างตั้งใจมาโดยตลอด ส่วนเรื่องของข้อกล่าวหาโดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบยาพาราเซตามอลก็ยังไม่ทราบว่า กระทำผิดในเรื่องใด
ทั้งนี้ นพ.วิทิตเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. เมื่อปี 2550 หมดวาระแรกในปี 2554 และได้ต่อสัญญาจ้างในวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ นพ.วิทิตจะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. บอร์ด อภ.ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ได้มีมติเลิกจ้าง พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ อดีตผู้อำนวยการ อภ.
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. กล่าวถึงบอร์ด อภ.มีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต ว่าเป็นดุลพินิจของบอร์ดในการพิจารณาและตัดสิน เรื่องนี้ มีทั้งดีเอสไอและ อภ.ที่ทำการตรวจสอบปัญหาต่างๆ ของ อภ. ไม่มีใครไปสั่งได้ หากมีใบสั่งจริง ถือเป็นการใส่ร้าย และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า เหตุใดดีเอสไอจึงส่งสำนวนความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ไปยัง ป.ป.ช.ว่า อาจเกี่ยวข้องกับ นพ.วิทิตเพียงผู้เดียว นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ดีเอสไอได้สอบถามเรื่องนี้ จนพบว่าปัญหาต่างๆ บอร์ด อภ.มีการสอบถามมาตลอด แสดงว่าไม่ได้ละเว้นหน้าที่ แต่การทำงานเป็นของผู้บริหาร จึงต้องรับผิดชอบ
นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมแพทย์แผนแผนไทยแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนกล่าช้า พบว่า มีการลงนามว่าจ้างวันที่ 18 กันยายน 2552 ผู้รับจ้างแบ่งเป็น 2 สัญญา ทั้ง 2 สัญญาใช้เวลาทั้งสิ้น 540 วัน เพราะฉะนั้นวันที่ครบกำหนดคือ วันที่ 29 เมษายน 2554 แต่ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย จึงถือว่าเป็นความล่าช้า
"ประเด็นที่ล่าช้าของการผลิตโรงงานวัคซีนมีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.เรื่องฐานรากที่ต้องปรับใหม่ 2.เรื่องน้ำท่วมปี 2554 ทั้ง 2 เหตุผลนี้ไม่น่ามีปัญหา และ 3.เป็นการออกแบบเพิ่มเติม ประเด็นนี้ อภ.ต้องประสานกับผู้รับจ้างในการลงรายละเอียดให้ก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบมาตรฐานต่างๆ เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันว่าส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า โดยผู้รับจ้างเสนอมากว่า 700 วัน ทำให้มีการพิจารณาว่า ต้องขยายงานขึ้น ซึ่ง อภ.ยอมรับว่า เป็นความล่าช้าของ อภ.เอง ที่ให้ข้อมูลกับผู้รับเหมาล่าช้า คณะกรรมการสอบสวนจึงเห็นว่า ผู้อำนวยการ อภ.ต้องรับผิดชอบในความล่าช้าที่เกิดขึ้น" นพ.สมชัยกล่าว
ขณะที่ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล กล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการพบว่าวิธีการจัดซื้อด้วยการใช้วิธีการพิเศษไม่สอดคล้องกับข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของ อภ. ส่วนการซื้อวัตถุดิบยาพาราฯจำนวน 100 ตัน พบว่ามีการให้ข้อมูลก่อนการอนุมัติสั่งซื้อว่า ยังไม่มีแผนการผลิต ไม่มีสถานที่เก็บ และยังมีวัตถุดิบเก่าเหลืออยู่อีกกว่า 40 ตัน รวมถึงมีการชะลอการ ส่งมอบ ทั้งที่ทำการจัดซื้อแบบเร่งด่วน ขณะที่โรงงานอยู่ระหว่างการปรับปรุง ทำให้ไม่สามารถนำวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาผลิตได้ ถือเป็นการตัดสินใจสั่งซื้อที่ไม่รอบคอบ และกลายเป็นภาระของ อภ.ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบ 100 ตันนานหลายปี
"วัตถุดิบดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อความ น่าเชื่อถือ อภ.ด้วย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อน ทำให้ไม่สามารถนำมาผลิตได้และหากคืนวัตถุดิบไม่ได้ สุดท้ายต้องทำลายวัตถุดิบมูลค่ากว่า 20 ล้านบาททิ้ง" นพ.นิพนธ์กล่าว ส่วนการก่อสร้างและปรับปรุงโรงงานล่าช้าไป 2 ปี พบว่า สัญญา แรกต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่มีการ ขยายสัญญา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขยายไป 100 วัน และรอบสองอีก 515 วัน เพิ่งส่งมอบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่อให้เห็นว่าการบริหารสัญญาไม่มีความรอบคอบ เป็นเหตุให้ อภ.ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโรงงานในการผลิตยาตามเป้าหมายธุรกิจของ อภ.
--มติชน ฉบับวันที่ 19 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 10 views