จากวิกฤตของกระทรวงสาธารณสุขอันเนื่องมาจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศใช้นโยบายการตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อไปจ่ายตามภาระงาน(Pay Per Performance : P4P) ที่ดูเหมือนเกิดจากความโฉดเขลา มีมิจฉาทิฐิที่ขาดความเข้าถึง เข้าใจบุคลากรที่ทำงานในชนบท ว่าบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนนั้น นั่งๆ นอนๆรับเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเฉยๆ และแกล้งทำเป็นสับสนระหว่างเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่จ่ายเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติงานอยู่ในชนบท และการจ่ายแบบP4P ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
การใช้ระบบ P4P ในโรงพยาบาลที่นำร่องนั้น พบว่า ปัญหามากมายในการนำมาใช้ในบริการสุขภาพทั้งเชิงกระบวนการ เช่น ความขัดแย้งของระบบการคิดค่าคะแนน การบันทึกผลงาน และเชิงผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในองค์กรและความไว้วางใจของผู้รับบริการ ละเลยงานที่มีค่าคะแนนต่ำ ทำให้เสียคุณค่าการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และการทำงานเป็นทีมด้านสุขภาพ ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ที่รัฐมนตรีจะไม่ทราบผลเสียที่เกิดขึ้น และแม้จะมีการต่อต้านอารยะขัดขืนจากชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายทันตภูธร อย่างหนักหน่วง ก็ยังไม่ยอมยกเลิกนโยบายดังกล่าวเพราะเหตุใดจึงยังดันทุรังเดินหน้าต่อไป
หรือเพราะนโยบายนี้แฝงด้วยความฉ้อฉลที่มุ่งหวังจะทำให้บุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชนหมดขวัญ กำลังใจ และเกิดการลาออกไหลบ่าจากภาคชนบทสู่เมือง และจากรัฐสู่เอกชนมากขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนและนโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ที่จะเน้นการบริการแก่คนรวยทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งมีแพทยสภาชุดปัจจุบัน (เราควรเรียกว่า แพทย์พาณิชย์สภา) เป็นพันธมิตรสมรู้ร่วมคิดร่วมเสพผลประโยชน์ด้วยกัน แต่กลับละเลยประชาชนในชนบทคนรากหญ้า อนาคตอันใกล้นี้โรงพยาบาลชุมชนจะขาดแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพอื่นๆมากยิ่งขึ้นไปอีก ใครมีรายได้พอจะไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนก็แล้วไป ใครที่ยากจนก็ต้องทนรักษากับโรงพยาบาลภาครัฐที่ขาดแคลนทั้งบุคลากรและคุณภาพ หรือต้องยอมขายไร่ขายนาไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนจนสิ้นเนื้อประดาตัวเหมือนในอดีต ตามภาพที่แสดง
อีกทั้งจากที่ รมต.ประดิษฐ ได้มีพฤติกรรมการพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระของระบบสุขภาพทั้งก่อนและหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น การแทรกแซงคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และการผลักดันให้ตั้งรองเลขาธิการสปสช. 2 ตำแหน่งเพิ่มขึ้น โดยส่งคนของฝ่ายการเมืองที่สามารถสั่งให้ทำนโยบายที่ไม่เหมาะสมได้โดยง่ายมากินตำแหน่งรอเป็นเลขาธิการ การแทรกแซงคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ต้องการตัดรากถอนโคนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายสุขภาพและการคานอำนาจอย่างเหมาะสมกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นก้างขวางคอที่สำคัญต่อนโยบายที่จะบั่นทอนระบบสุขภาพที่ต้องการเอื้อให้ฝ่ายนายทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้เข้ามาแสวงหาผลกำไรโดยละเลยคนยากคนจน เช่น นโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) การทำสัญญาการค้าที่ทำให้ยาและเวชภัณฑ์บางประเภทมีสิทธิบัตรที่ยาวนานขึ้นทำให้ราคายาสูงขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตภูธรและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 31 มี.ค.2556 และยกเลิกประกาศค่าตอบแทนฯ ฉบับที่9 รวมทั้งเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากนโยบายดังกล่าว โดยการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อปกป้องระบบสุขภาพที่เป็นธรรมของประเทศชาติไว้
ผู้เขียน : นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2556
- 3 views