น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอเรื่อง "กลไกการอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ" ภายในการประชุมวิชาการ การวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 "จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" ว่า มิติความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพไทย 3 กองทุนหลัก คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก 1.สิทธิประโยชน์ เช่น การคุ้มครองบุคคลในครอบครัว ยาและเวชภัณฑ์ การชดเชยความเสียหายจากการรักษาพยาบาล 2.คุณภาพในการรักษาพยาบาล และ3.ภาระค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน
น.ส.เดือนเด่นกล่าวว่า ข้อเสนอแนะในการลดความเหลื่อมล้ำต้องดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวมกองทุน แต่ต้องพิจารณาในเรื่องการเบิกจ่ายจะเป็นระบบเหมาจ่ายหรือจ่ายตามจริง การคลังจะเป็นงบประมาณ เงินสมทบ หรือร่วมจ่ายของผู้ป่วย การคุ้มครองตั้งแต่ระยะเวลาที่คุ้มครองและสมาชิกครอบครัวที่คุ้มครอง 2.ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียว และ 3.สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน ผู้ประกันตน หรือนายจ้างมิใช่รัฐจะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน
"การยุบเลิกระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ อาจพิจารณาที่จะยุบเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการให้ข้าราชการหรือพนักงาน ลูกจ้างบรรจุใหม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยการเสียสิทธิด้วยการเพิ่มเงินเดือน ส่วนข้าราชการรายเดิมให้เลือกที่จะใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย สำหรับการอภิบาลระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรมีหน่วยงานที่เป็นอิสระสังกัด สธ. ดูแล มีการจัดเก็บภาษีสุขภาพ ระบบการเบิกจ่ายเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวและตามกลุ่มโรคร่วม ต้องมีศูนย์ข้อมูล มีหน่วยตรวจสอบคุณภาพการรักษาพยาบาล เป็นต้น" ดร.เดือนเด่นกล่าว
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 7 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view