แพทย์ชนบทแฉเครื่องตรวจน้ำตาล สธ. แพงกว่าองค์การเภสัชฯ ขาย 4.5 เท่า ทำรัฐสูญเงิน 115 ล้านบาท
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า มีผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งข้อมูล เอกสารขบวนการเตรียมการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพาสำหรับ อสม. มูลค่าการจัดซื้องวดแรกกว่า 147 ล้านบาท พบว่า มีกลุ่มนักธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุข เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เคยมีข่าวเกี่ยวข้องกับความพยายามจะทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์กว่า 500 ล้านบาท จากงบค่าเสื่อมของ สปสช. ในส่วนที่เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในสมัย นายวิทยา บุรณศิริ เป็น รมว.สาธารณสุข ในครั้งนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าวอาศัยอำนาจของนักการเมือง สั่งให้ตั้งงบจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลดังกล่าวด้วยการล๊อคสเปคให้ได้ยี่ห้อจากประเทศเกาหลีที่ติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยตั้งราคาเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแถมแถบตรวจจำนวน 50 แถบ ราคาชุดละ 1,800 บาท แพงกว่าที่องค์การเภสัชกรรมขายอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ที่ราคาเพียง 400 บาท ถึง 4.5 เท่า ทำให้รัฐสูญเสียเงินงวดแรกนี้กว่า 115 ล้านบาท และมีแผนผูกขาดขายแถบตรวจน้ำตาลในเลือดที่ตั้งราคาสูงกว่าองค์การเภสัชกรรมกว่าเท่าตัว โดย อสม.ทั่วประเทศต้องใช้ตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในชุมชนกว่าปีละ 20 ล้านครั้ง เป็นเงินที่ต้องสูญเสียเพิ่มเติมตกปีละกว่า 100 ล้านบาทต่อเนื่องทุกปี
นพ.วชิระ เปิดเผยต่อว่า จากข้อมูลที่ได้รับ เรื่องนี้เดิมมีคำสั่งจากผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขให้จัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในส่วนกลางทั้งหมดกว่า 80,000 เครื่องเพราะสะดวกกับการเบิกจ่ายเงิน โดยมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งเป็นประธานกำหนด TOR การจัดซื้อ แต่มีผู้ใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์กรณีทุจริตยา ได้ให้คำแนะนำรองปลัดฯ ให้กระจายความเสี่ยงมอบอำนาจให้ สสจ.ทุกจังหวัดเป็นผู้จัดซื้อแทน สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง จนมีข่าวเมื่อเร็วๆนี้ในกระทรวงสาธารณสุขว่าจะย้ายรองปลัดฯ คนหนึ่งไปเป็นผู้ตรวจราชการ
อดีตประธานแพทย์ชนบท เปิดเผยต่อว่า เรื่องนี้มีการเตรียมการทุจริตอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการสั่งระงับจะทำให้รัฐต้องซื้อแพงกว่าที่องค์การเภสัชกรรมขาย สูญเงินทันทีกว่า 115 ล้านบาท และจะต้องสูญเงินอีกปีละกว่า100 ล้านบาทต่อเนื่องทุกปีจนกว่าจะเลิกใช้เครื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขส่งเรื่องฟ้อง DSI ให้เข้าตรวจสอบอย่างจริงจังเหมือนที่ทำกับองค์การเภสัชกรรมในกรณีการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนล่าช้าและการพบสารปนเปื้อนของยาพาราเซตามอล และตั้งคนนอกเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง เหมือนกรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง จนอดีต รมว.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้สังคมมั่นใจความโปร่งใสของกระทรวงสาธารณสุข
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดขายชุดตรวจน้ำตาลในเลือดมีการแข่งขันสูง ทำให้ราคาขายลดลงทุกปีประกอบกับค่าเงินบาทไทยแข็งอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้ราคาถูกลงอย่างมาก และเมื่อวันที่ 9 กพ. 2553 องค์การเภสัชกรรมได้มีใบเสนอราคาขายแถบตรวจน้ำตาลในเลือด 50 ชิ้น/กล่อง ในราคา 400 บาท ซื้อ 10 กล่องแถมฟรี 4 กล่อง พร้อมวางเครื่องตรวจน้ำตาลเครื่องใหม่ 40 เครื่อง (กล่องละ 4 เครื่อง) ให้ฟรี โดยมีเจ้าหน้าที่สอนการใช้เครื่องและทดสอบดูแลทุกเครื่องตลอดการใช้งาน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ ได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 27 กพ. 2556 ให้ สสจ.ทุกจังหวัด ดำเนินการจัดซื้อโดยตั้งงบประมาณไว้ที่เครื่องตรวจเครื่องละ 1,800 บาท แถมแถบตรวจ 50 แถบ พร้อมอบรมการใช้เครื่อง ราคาที่ตั้งไว้สูงกว่า ขององค์การเภสัชกรรมที่ขายอยู่ในท้องตลาดถึง 4.5 เท่าตัวและเฉพาะแถบตรวจมีข่าวว่าจะขายสูงกว่า 2 เท่าตัว
- 4 views