นสพ.มติชน : นับแต่การยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ภารกิจหนึ่งที่ยังไม่จบไม่สิ้นของ คสช. ก็คือการ "จัดแถว" ข้าราชการ โดยเฉพาะการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ทั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางการบริหาร

ในจำนวนนี้ทุกรายไปแล้วไปลับ ไปแล้วไม่มีกลับมาสู่ตำแหน่งเดิม ยกเว้นเพียงรายเดียว

4 สิงหาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงนามในคำสั่งที่ 204/2558 เรื่องให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ระบุว่า ตามที่สำนักนายกฯ มีคำสั่งที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2558 ให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกฯที่ 70/2558 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2558 เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น

บัดนี้ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกฯ ยุติแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) (3) (4) และ (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงให้ยกเลิกคำสั่งนายกฯที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2558

และให้ นพ.ณรงค์กลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ขยายความเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงนามในคำสั่งให้ นพ.ณรงค์กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ใน สธ.ตามเดิมก่อนเกษียณ ก.ย.นี้ โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ

1.เมื่อกลับไปจะไม่มีการโยกย้ายข้าราชการเพราะอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก

2.นพ.ณรงค์ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป

3.ต้องดำเนินนโยบายตามที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. มอบหมายสั่งการหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขอาจมีการพิจารณาเรื่องการโยกย้ายอีกครั้ง

ฟังดูแล้วอาจจะขึงขังอย่างยิ่งแต่ต้องพิจารณาความเป็นจริงประกอบ

ประการหนึ่ง เมื่อถูก คสช.ปลดออกจากตำแหน่งแล้ว มีเพียง นพ.ณรงค์เท่านั้นที่ได้กลับสู่ตำแหน่งเดิม

ประการหนึ่ง ปฏิกิริยา "ต้อนรับ" ผู้ที่กลับเข้าสู่ตำแหน่งจากซีกหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างคึกคัก

5 สิงหาคม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเดินรำแก้บนรอบอาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากได้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปลัดกระทรวงกลับมาดำรงตำแหน่งเช่นเดิม

มีแตรวงบรรเลงดนตรีอย่างสนุกสนาน เดินรำแก้บนรอบอาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 รอบ จากนั้นทำการสักการะ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักปลัด

แม้จะมีเสียงทักท้วงเบาๆ จาก นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผอ.รพ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และกรรมการแพทย์ชนบท ว่า

ก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทยื่นเรื่องร้องเรียน นพ.ณรงค์ ต่อ รมว.สาธารณสุข ว่าอาจปฏิบัติขัดต่อระเบียบข้าราชการสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยการรับเงินค่ารถประจำตำแหน่งตกปีละกว่า 3 แสนบาท แต่ยังใช้อำนาจสั่งการใช้รถยนต์ราชการอีก หากมีความผิดจริงการให้กลับมาก็คงไม่เหมาะสม

แต่จะต้องไม่ลืมว่า แม้แต่ระดับ "กรรมการชุดใหญ่" ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมายังไม่กล้า "ฟันธง"

ผลสอบที่ออกมาแบบ "แทงกั๊ก" คือเหตุผลที่ทำให้ปลัดกระทรวงคืนสู่เก้าอี้ได้

เพราะจะต้องไม่ลืมว่า นพ.ณรงค์เป็นใคร? นี่คือข้าราชการระดับ "นกหวีดทองคำ" เพียงหนึ่งเดียว ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณเลขาธิการ กปปส. บุกไปมอบนกหวีดทองคำให้ถึงกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ในวันนั้นไม่เพียงมี นพ.ณรงค์ ยังมี นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล ร่วมต้อนรับแกนนำ กปปส.และคณะอย่างอบอุ่น ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เช่นนี้แล้ว เสร็จนาจะฆ่าโคถึก เสร็จศึกจะฆ่าขุนพล ได้อย่างไร

ไม่เพียงแต่จะโหดร้ายต่อความรู้สึก แต่ยังอาจทำให้เกิดความ "ไม่ปรองดอง" ขึ้นในกลุ่มก้อนในพรรคพวกเดียวกันได้

มีนกหวีดทองคำคุ้มกาย ย้ายไปแล้วก็ย้ายกลับได้ดังนี้

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)