ในที่สุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมเชิงนโยบายการสร้างความเป็นเอกภาพสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ก็เลือกที่จะชะลอแนวคิดการตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองนโยบายด้านสาธารณสุขของนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีคณะกรรมการชุดอื่นที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่แล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ จึงไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ขณะเดียวกันกลไกกลั่นกรองก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็มีความเข้มงวดพอ ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกอื่นมาเพิ่ม
ไม่มีใครรู้ว่า เพราะเหตุใด ยิ่งลักษณ์ จึงเลือกที่จะไม่เดินหน้า ตามที่ นพ.ประดิษฐ เสนอ แต่ข่าวที่แพร่สะพัดใน สธ.ระบุว่า บางทีนายกรัฐมนตรี อาจต้องการลดอุณหภูมิร้อนที่ สธ.ลงเพื่อไม่ให้ขยายความขัดแย้งขยายไปยังรุ่นพี่ของแพทย์ชนบทที่อยู่ในองค์กรอิสระสังกัด สธ. หรือ ตระกูล ส.
อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ ได้เห็นชอบให้มีคณะกรรมการชุดใหม่เกิดขึ้นต่อไป โดยทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม-คุณภาพชีวิตทั้งหมดแทน และให้มีโครงสร้าง ได้แก่ รมว.มหาดไทยรมว.ศึกษาธิการ รมว.แรงงาน รมว.สธ. อย่างเดิมเพียงแต่เลขานุการคณะกรรมการ อาจไม่ใช่ รมว.สธ.และผู้ช่วยเลขานุการอาจไม่ใช่ปลัด สธ. แต่อาจเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมแทน
นพ.ประดิษฐ ระบุว่า คณะกรรมการชุดใหม่อาจทำหน้าที่เสมือน "กรรมการยุทธศาสตร์" ดูแลด้านคุณภาพชีวิตทั้งหมด เป็นแผนยุทธศาสตร์เท่านั้น ซึ่งครม.จะให้ความเห็นชอบต่อไป โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และใน 2-3 เดือน จะมีการประชุมเพื่อเสนอโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพชีวิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของคณะกรรมการในส่วนของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จะมีการเพิ่ม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาเพิ่ม
แม้จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์คุณภาพชีวิตมาแทนที่ แต่แน่นอนว่าเจตนารมณ์การเปลี่ยนไปเกือบทั้งหมด เพราะ นพ.ประดิษฐ หมายมั่นปั้นมือว่า ข้อเสนอขององค์กรอิสระในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโรงเรียนแพทย์ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงการจัดการสิทธิประโยชน์ในกองทุนสุขภาพของสำนักงานประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งกรมบัญชีกลางเป็นผู้ดูแลจะต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ที่เดียว ทำหน้าที่เสมือนครม.สาธารณสุขชุดย่อย โดยมีอำนาจตัดสินใจเรื่องที่ทุกคณะกรรมการชุดย่อยเสนอขึ้นมาก่อนเข้า ครม.
ก่อนหน้านี้ นพ.ประดิษฐ ยอมรับว่า การบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพเริ่มประสบปัญหา เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกัน และไม่สามารถเดินหน้าให้ครอบคลุมไปยังผู้มีสิทธิอื่นได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างที่ตั้งใจไว้ การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเพื่อบูรณาการ3 กองทุนเข้าด้วยกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 เมษายน 2556
- 1 view