"ปัจจุบันแนวโน้มโครงสร้างทางประชากรของสังคมไทยกำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุ จากตัวเลขเมื่อปี 2553 ระบุว่ามีผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 8.5 ล้านคน โดยหากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยที่มีประมาณ 65.9 ล้านคน พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 13 โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในอีก 10 ปีข้างหน้า" รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "สังคมไทยจะก้าวไปอย่างไรบนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มมโนทัศน์ใหม่ ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างของสังคมไทย ร่วมกันสะท้อนมุมมองสำหรับการปรับตัวและการวางแผน เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต
รศ.ดร.วรเวศม์ ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยก็กำลังประสบภาวการณ์มีบุตรน้อย โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า ประชากรที่มีอายุ 80 ปี จะมีอัตราการมีบุตรเฉลี่ยคนละ 4.6 คน ส่วนประชากรอายุระหว่าง 50-54 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียงคนละ 2.1 คน เท่านั้น ทั้งนี้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของผู้สูงอายุ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในอนาคตประเทศไทยน่าจะประสบกับภาวะขาดแคลนกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างภาคเอกชน เนื่องจากสัดส่วนการออกจากงานของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 47-48 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว เพศหญิงก็มักจะออกไปเป็นแม่บ้าน ซึ่งการออกจากงานที่ค่อนข้างเร็วเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางรายได้ในอนาคต
"แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดจะพยายามสร้างหลักประกัน ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเงินบำนาญ แต่ในเรื่องของการขยายโอกาสการทำงาน หรือการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ตรงนี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังไม่ค่อยมีความพร้อมมากนัก ตรงจุดนี้ควรเริ่มวางแผนในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป" รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว และว่าจากผลการศึกษาวิจัยพบว่าหากประเทศไทย มีการวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการเพิ่มอายุการทำงาน หรือชักจูงให้คนอยู่ในระบบงานนานขึ้น จะส่งผลให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมั่นคงมากกว่าการไม่เตรียมความพร้อม โดยมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีการเตรียมการอะไรเลย ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง 1%
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยสภาพสังคมไทยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ในอนาคตจะส่งผลให้มีอัตราที่พึ่งพิงวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะนี้ประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม คือ สามารถออกมาพบประผู้คนได้ ร้อยละ 78 กลุ่มติดบ้าน คือ ลูกหลานต้องคอยดูแล ร้อยละ 20 และกลุ่มติดเตียง คือ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ร้อยละ 2 ดังนั้นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จึงต้องอาศัยรูปแบบการให้บริการที่มีส่วนร่วมจากชุมชนเข้ามาช่วยกัน โดยพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ขยับเป็นกลุ่มติดสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงให้สามารถดูแลตัวเองได้เพิ่มมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับมุมมองมโนทัศน์ใหม่ต่อความหมายผู้สูงอายุ ในมุมมองเชิงจิตวิทยาสังคมและสุขภาพ พบว่าการเปลี่ยนแปลงนิยามของผู้สูงอายุ จาก 60 ปี เป็น 65 หรือ 70 ปี จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น เพราะส่งผลต่อมุมมองที่จะไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือการรังเกียจอันเนื่องมาจากอายุ (ageism) ขณะเดียวกันคนในสังคมก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อผู้สูงอายุเชิงบวกมากกว่าเชิงลบด้วย
นอกจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว วัฒนธรรมการออมเงินเพื่อเกษียณของคนไทยต่ำเช่นกัน เท่ากับจะทวีปัญหาของผู้สูงอายุในอนาคตให้ใหญ่ขึ้นอีก
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 เมษายน 2556
- 13 views