ปัญหาการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว เป็นอิงตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance)กลายเป็นเรื่องลุกลามไม่จบสิ้น
ล่าสุด นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัด สธ.ได้เสนอทางออกที่ร่างเป็นข้อแนะนำส่งอีเมล์ให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เพื่อเสนอต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้พิจารณาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อ ดังนี้
1.สธ.ควรกำหนดให้การจัดการค่ากลางและการบูรณาการเป็นกิจกรรมที่มีอันดับความสำคัญสูง พร้อมกับแจ้งให้องค์กรภายใน สธ. ระดับต่างๆ รวมทั้งภาคีที่เกี่ยวข้องทราบโดยทั่วกัน ปัญหาของการใช้มาตรการ P4P เมื่อเราสามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนาได้ ดังเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ใน การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิด จากการใช้มาตรการ P4P ในการรักษาพยาบาลได้
ทั้งนี้ ในระดับโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน การรักษาพยาบาลไม่ใช่บทบาทเดียวขององค์กร ดังที่มีการกำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่อันเป็นที่ทราบกันอยู่ บทบาทเหล่านั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของประเทศแน่นอน แต่คำถามคือ
"ยุทธศาสตร์ของประเทศที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของการรักษาพยาบาลกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคืออะไร?" เพื่อตอบคำถามนี้ จึงนำไปสู่อีกคำถามที่ว่า "จุดหมายปลายทางของการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนคืออะไร?"
สรุปว่า จุดอ่อนของการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนอยู่ตรงความไม่ชัดเจนในยุทธศาสตร์ของการเกิดขึ้นและมีอยู่ของโรงพยาบาลชุมชนเอง เมื่อไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในระดับนั้น ความพยายามพัฒนาโรงพยาบาลจึง มุ่งเน้นไปที่การพัฒนากลยุทธ์เป็นสำคัญ และกลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็คือ มาตรการ P4P เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ แต่เนื่องจากเป็นการใช้เพียงกลยุทธ์ที่เป็นองค์ประกอบเดียวโดยไม่มียุทธศาสตร์กำกับ จึงไม่มีหลักประกันว่า เมื่อทำไปแล้วสุขภาพของประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร
แล้ว สธ.ควรทำอย่างไร?
เมื่อมาตรการถูกประกาศไปแล้ว สิ่งที่ สธ.ควรทำโดยเร็วคือ การวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อให้ทราบว่าจุดหมายปลายทางของการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน จากนั้น จะสามารถระบุกลยุทธ์ได้ถูกต้อง ซึ่งอาจจะไม่ได้เพียงเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลในการใช้งบประมาณอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การถ่ายทอดข้อมูลความรู้เพื่อนำไปสู่การแสดงบทบาทของประชาชน การสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพนอกรั้วโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น
2.สธ.ควรกำหนดแผนที่เดินยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบการรักษาพยาบาล จะทำให้ได้จุดหมายปลายทางที่ชัดเจนสำหรับโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน จากนั้นจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ โดยต้องเข้าใจ คำว่า P4P นั้น Performance แปลว่า "ปฏิบัติการ" ซึ่งในการให้รายละเอียดของยุทธศาสตร์ ควรกำหนดเฉพาะ
"กิจกรรมสำคัญ" ในปฏิบัติการที่เชื่อว่า จะมีผลต่อการบรรลุจุดหมายปลายทางแน่นอน ว่ามาตรการ P4P อาจจะใช้กับกิจกรรมรักษาพยาบาลโดยบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลได้ แต่บุคลากรดังกล่าวก็ยังมีกิจกรรมสำคัญในปฏิบัติการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาลที่สมควรได้รับการตอบสนองด้วยมาตรการ P4P เช่นกัน ที่สำคัญ สธ.มี ผู้มีความสามารถและประสบการณ์เรื่องแผน ที่เดินยุทธศาสตร์อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถ ใช้ประโยชน์ในการนี้ได้ จึงควรนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่ต้น ก็จะเป็นการหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน
3.หลักการข้อหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งคือ "ไม่ใช่แบบของเธอ ไม่ใช่แบบของฉัน แต่เป็นแบบของเรา" หาก สธ.ยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงส่วนที่ขาดหายอย่างเร่งด่วน ผลกระทบในระยะยาวที่เห็นได้ คือ ระบบสาธารณสุขจะไม่มีความสมดุลระหว่างการส่งเสริม ป้องกัน กับการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ บุคลากรจะไม่มีความสุข เพราะไม่มีจุดหมายปลายทางร่วมกัน
สรุปว่า ระบบนี้จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล มองเพียงแคบๆ ว่าทำงานเพื่อให้ได้เงินให้มากที่สุดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าปัญญาชน จะมีความคิดเช่นนั้น
--มติชน ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view