นี่...อาจเป็นจุดเริ่มต้นความล่ม สลายจริงๆของระบบบริการสุขภาพคนจนในประเทศไทย
วันนี้...กลุ่มทุนโรงพยาบาลเอกชนกำลังขยายธุรกิจ รุกคืบออกไปตามแนวชายแดน แถวแม่สอด ฝาง...น่าสนใจว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นดินแดนที่กันดารมากในอดีต หมอก็ไม่ค่อยมีเข้าไปอยู่ แต่เอกชนกลับกล้าเข้าไป ลงทุนสร้างคลินิก เปิดกระจายตัวลักษณะแบบเดียวกับเซเว่นฯ
ที่กำลังเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ แนวชายแดนจังหวัดอุดรธานี หนองคาย ได้ข่าวมาว่า กลุ่มทุนโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังก็กำลังเข้าไปลุยกว้านซื้ออย่างหนัก
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกต
นอกจากนี้กลุ่มโรงพยาบาลเมืองที่เป็นเอ็นพีแอลมาเกือบ 10 ปีในขอนแก่นก็ยังถูกซื้อไปในวงเงินกว่า 500 ล้านฯ...กำลังจะบอกว่าแม้กระทั่งเมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัด ที่ไม่เอื้อให้เอกชนไปลงทุน เรียกว่าลูกค้าระดับสูงที่จะเข้าไปใช้บริการมีไม่เยอะ แต่ไฉนเลย...โรงพยาบาลเอกชนกล้าลงทุน
คำถามมีว่า ถ้าอย่างนี้เกิดอะไรขึ้น
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ มองว่า ธุรกิจบริการสุขภาพบ้านเราดีกว่า เจริญกว่าประเทศข้างบ้าน ในการลงทุนเปิดสถานบริการสุขภาพเอกชนรับคนไข้ต่างชาติไม่มีปัญหา
“แต่ปัญหาใหญ่คือการทำลายระบบบริการสุขภาพรัฐ…เอกชนจะเอาคน หมอ บุคลากรมาจากที่ไหน จะเอาหมอเอกชนจากกรุงเทพฯหรือ ตอนนี้แค่ดูแลคนไข้ต่างชาติก็ไม่ไหวแล้ว อีกทั้งถ้าเอามาจริงๆ ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นอีกมาก”
มองโลกในแง่ร้าย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับปัญหา ย่อมดีกว่ามองโลก ในแง่ดี... สวยหรู แต่ถึงเวลาก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว “การดึงตัวหมอ...บุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว หากตั้งใจดึงคนแบบลงทุนน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ”
การทำลายระบบดั้งเดิมที่เข้มแข็ง สายสัมพันธ์ทางใจ กับแรงศรัทธาที่หมอมีต่อระบบบริการสุขภาพรัฐให้พังลงไปเสียก่อน แล้วค่อยช้อนเอามาครอบครองก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และน่าจะเป็น
“กลวิธีแยบยล วิธีการที่จะทำให้หมอลดค่าตัวลงไปได้ จากปกติ...ถ้าจะดึงตัวก็ต้องจ่ายแพง ถ้าสลายระบบ ลดค่าตัวหมอได้ในภาพใหญ่ ก็ไม่ต้องออกแรงดูด หมอก็จะเดินเข้าไปหาโรงพยาบาลเอกชนด้วยตัวเอง”
วิธีการที่ว่านี้...เสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่อาจพูดได้ว่าเป็นใบเสร็จยุทธศาสตร์พ่อค้า ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเดินหมากของนายทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนนั่นก็คือ... “เมดิคัลฮับ”
“เมดิคัลฮับ” เปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการสยายธุรกิจ ก็เสมือนหนึ่งเป็นเส้นทางเฉพาะเจาะจงลงไปว่า ต้องทำตรงนี้ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“เมดิคัลฮับ”...หลักการมีอยู่ว่าวัตถุประสงค์เพื่อที่ต้องการสร้างกำไรให้ประเทศจากทรัพยากรสุขภาพที่เหลือจากการดูแลคนไทย
เหลือก่อนถึงจะทำ ไม่อย่างนั้นก็จะมาแย่งสิทธิคนในประเทศ อย่างประเทศสิงคโปร์ทำได้ ประเทศเล็กแต่โรงพยาบาล หมอมีเยอะ ทรัพยากรคนเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ วิชาชีพที่ทำเงินได้
“บ้านเราดีอยู่แล้ว แต่ถือว่าผิดฝั่งผิดฝา...กำลังจะเดินหน้าไปสู่ระบบธุรกิจทุนนิยม...แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐฯ เป็นทุนนิยมจ๋าที่สุด เขายังห้ามไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น
เพราะมองว่าบริการสุขภาพเป็นสินค้าคุณธรรม ห้ามแสวงหากำไร เนื่องจากต้นทุนด้านบริการสุขภาพ ต้นทุนการผลิตคน บุคลากร มาจากต้นทุนที่เป็นตัวเงินกับไม่ใช่ตัวเงิน”
“หมอเมืองไทย”...ต้นทุนผลิตอยู่ที่คนละ 3-6 ล้านบาท ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน...อาจารย์ใหญ่ ผู้เสียชีวิตบวกกับผู้ป่วย เวลาเข้ารับการรักษาก็เป็นอาจารย์ในเคสศึกษา ถามว่าอาจารย์กับผู้ป่วยอยากจะให้หมอได้ศึกษาเรียนรู้ ก็เพื่อต้องการให้เป็นวิทยาทาน เป็นความรู้ ต่อยอด...เพื่อให้ผู้ศึกษาไปดูแลคนยากคนจนทั้งประเทศ
ดังนั้น การปรับลดค่าตัว...ลดศักดิ์ศรีหมอ ถ้าไม่ได้ทำให้เกิด ประโยชน์กว่าเดิมหรือเพิ่มแรงจูงใจให้หมอทำงานอยู่กับโรงพยาบาลรัฐต่อไปด้วยความมั่นคง ยั่งยืน ก็ไม่น่าจะมีเจตนาอื่น นอกจากเพื่อบีบให้หมอลาออก เพื่อให้เอกชนจะได้ดูดหมอได้ง่าย
มองอย่างยุติธรรม...โรงพยาบาลเอกชนถ้าไม่มองเห็นโอกาส หรือไม่มีใครบางคนที่เป็นคนใหญ่ถึงใหญ่มากตกปากรับคำอะไรบางอย่าง ก็ไม่น่าที่จะกล้าลงทุนธุรกิจตามแนวชายแดนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“P4P” หรือ Pay–for–Performance เป็นอาวุธที่ดีสำหรับโรงงานผลิต แต่ไม่ใช่สำหรับหมอรักษาคนไข้
ยกตัวอย่างคุณหมอวัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ติดชายแดนหนองคาย อยู่มากว่า 20 ปี ตั้งแต่จบใหม่ เป็นหมอศัลยกรรม ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนมากทั่วประเทศ และยังเป็นหมอที่เชี่ยวชาญผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง รักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีเรียกว่า...มากที่สุดในโลก
“...มากกว่าหมอในเมืองไทยทุกคนในเวลานี้ ชื่อเสียงโด่งดังกระจายไปถึงปากเซ คนลาวก็เข้ามาใช้บริการ คุณภาพดีถึงขั้นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศลาวก็มาผ่าที่นี่”
เดิมทำงานอายุงานกว่า 20 ปี พื้นที่ระดับกลางปกติจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอยู่ที่ 40,000 บาท ถ้าเป็นระบบใหม่...ปรับลดรอบแรก 1 เมษายนนี้...จะเหลือ 25,000 บาท
น่าสนใจว่าทั้งๆที่ค่าตัวหมอระดับนี้ ถ้ามาอยู่โรงพยาบาลเอกชน ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 ล้านบาทแน่นอน ถ้าคุณหมอจะหันหลังให้โรงพยาบาลรัฐ รับรองว่าเอกชนจับตาช้อนตัวแน่ๆ
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าให้ฟัง เข้ารับการรักษาผ่าตัดกับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ผ่าตัดไส้ติ่งด้วยวิธีการส่องกล้อง เจาะ 3 รู เสียเงิน 330,000 บาท ...ในขณะที่คุณหมอวัฒนาเก็บ 8,000 บาท
นี่คือความต่าง ถามว่าค่าตัวหมอผ่าตัดเอกชนจะอยู่ที่เท่าไหร่ ใน 3.3 แสนบาทก็ต้องไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อครั้ง…หากเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลคุณหมอได้ครั้งละไม่ถึง 300 บาท
ถามต่อไปอีกว่า...ถ้าไปตั้งอยู่ชายแดน เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนดึงหมอฝีมือดีจากระบบราชการไทยไปได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนไข้ เพราะประชาชนประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีมีไม่ใช่น้อยๆ
“คนเหล่านี้พร้อมที่จะจ่ายเพื่อแลกกับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แลกกับชีวิตที่จะต้องตายจะเสียเงินเท่าไหร่ก็ยอม ในช่วงนาทีเป็นนาทีตาย...จะเรียกค่าตัว ค่าบริการเท่าไหร่ก็ได้”
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นแล้วกับแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ซึ่งเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูค่าตัวสูงมาก บ้านคุณหมออยู่ท่าบ่อพอใจที่จะได้ดูแลคนยากคนจน คนพิการที่บ้านเกิดของเขา ยอมรับเงินแค่ 1-2 หมื่นบาท...มาอยู่ได้ 4 ปี ในขณะที่อยู่เอกชนได้เป็นแสนก็ไม่ไป
เมื่อ P4P มาพร้อมๆกับคำพูดลดทอนศักดิ์ศรี หมอที่รับเงินแบบนี้เป็นพวกไม่ทำงาน เสมือนเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจ โดยที่ไม่มีข้อมูล หมอคนนี้ก็รับไม่ได้...ขอลาออก หยุดอยู่แค่ตรงนี้ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า
“หมอชนบทเป็นผู้เสียสละ...ดีกว่าหมอในคราบนักธุรกิจ คงไม่เข้าใจหัวอกหมอที่อยู่อย่างลำบากด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง”
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 19 เมษายน 2556
- 13 views