การเคลื่อนไหวเชิงคุณธรรมของแพทย์ชนบท เพื่อให้รักษา "หมอชนบท"ไว้กับสังคมไทยนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิธีคิดเชิงธุรกิจของกระทรวงสาธารณสุข

ทำให้การคัดค้านระบบ "จ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน" แทนที่ "ระบบเหมาจ่าย"

นั่นหมายความว่า แพทย์ในพื้นที่ทุรกันดาร ก็จะมีรายได้น้อยลง ส่งผลให้มีการลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น

ชมรมแพทย์ชนบทจึงประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับกระทรวงสาธารณสุขทันที โดยไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วย

การเคลื่อนไหวรวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงแสดงให้เห็นถึง "พลังคุณธรรม" ของแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน

ทั้งหมดแต่งกายชุดดำ เพื่อขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกจากตำแหน่ง

เพราะยกเลิกนโยบายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P)

ทั้งวางดอกไม้จันทน์ พร้อมจุดธูปและเทียนสีขาวเพื่อเผาขับไล่ด้วย"พวกเรามาขับไล่นพ.ประดิษฐให้ออกจากตำแหน่งเพราะบริหารงานมีปัญหา และมีการรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้แพทย์นั้นออกจากการสังกัดของรัฐโดยให้ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) อีกทั้งมีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายคือการเปลี่ยนการจ่ายเงินแบบให้จ่ายเป็นเบี้ยขยันจากตามภาระงาน ทำให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจ เป็นการทำให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบคุณภาพการรักษา"

ทั้งนี้การใช้ระบบจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P เป็นการบอกได้แต่ปริมาณงาน แต่ไม่สะท้อนคุณภาพของงาน เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริหารจัดการในโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐไม่มุ่งที่จะแสวงหาผลกำไรจากประชาชน

ในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 มี.ค. มีพยาบาลคนหนึ่งกล่าวบนเวทีว่า"ระบบจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P เป็นการที่ทำให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรในชนบทต้องอยู่กับที่เพื่อทำยอด ซึ่งจะกระทบระบบ เพราะเมื่ออยู่กับที่แล้วตรวจคนไข้ได้เยอะ แทนที่บุคลากรจะลงพื้นที่ไปพบและรักษาประชาชนดูแลแนะนำด้านสุขภาพเขาเพื่อไม่ให้เขาต้องมาโรงพยาบาล"

ประธานชมรมแพทย์ชนบทอธิบายข้อเท็จจริงในการรักษาคนป่วยว่า"ตามหลักเกณฑ์การปรับจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานแบบ ซึ่งมีการปรับพื้นที่ทุรกันดารใหม่นั้น ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริง เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงนั่งอยู่แต่ในกระทรวง อีกทั้งยังเอาพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ปกติ ไปเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลจังหวัด โดยบอกว่าพื้นที่ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปแล้ว แต่พอเอาเข้าจริงแล้วขอถามหน่อยว่า ถ้าแพทย์จบใหม่ต้องใช้ทุนเลือกโรงพยาบาลได้ เขาจะเลือกไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลไหม ซึ่งคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว

"ผมขอยืนยันว่างบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานในพื้นที่ห่างไกลได้ อย่างคุณหมอวัฒนา มาลีศรี เป็นหมอที่ผ่าตัดด้วยกล้องมากที่สุด ของโรงพยาบาลยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางในพื้นที่ปกติ และทำงานในโรงพยาบาลชุมชน 21 ปีขึ้นไป ตอนนี้รัฐจูงใจให้ค่าตอบแทน เหมาจ่าย 4 หมื่นบาทต่อเดือน แต่การปรับจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ในเดือนเมษายนนี้ จะลดเหลือ 25,000 บาท เดือนตุลาคม เหลือ15,000 บาท แต่พอ 1 ตุลาคมปีหน้า เหลือ 0 บาท" นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยกตัวอย่างความไม่เท่าเทียมในการให้ผลตอบแทน

ข้อมูลของโรงพยาบาลในปัจจุบันระบุว่า ขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนถือเป็นฐานใหญ่ ในการรักษาพยาบาลประชาชนในประเทศ โดยหากเทียบสัดส่วนโรงพยาบาลของรัฐที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนนั้นมีมากที่สุด 736 แห่ง นอกนั้นเป็นโรงพยาบาลทั่วไปเพียง 92 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง

แสดงให้เห็นว่า มีแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ทั้งนี้โรงพยาบาลจังหวัด มีแพทย์อยู่ 8,737 คน โรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ 3,425 คน โดยที่แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดดูแลคนไข้เพียง 25.77 คนแต่โรงพยาบาลชุมชนดูเฉลี่ย 47.95 คน และหากวัดความยากง่ายในการรักษาพบว่า โรงพยาบาลจังหวัดค่าความยากอยู่ที่ 38.75 โรงพยาบาลชุมชนอยู่ที่ 45.33

"การปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชน ในปี 2551-2555 ทำให้แพทย์ยอมทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมทั้งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง มีเพียง 2,767 คน เพิ่มเป็น 4,056 คนแต่หากถูกปรับจ่ายตามพื้นที่ปรับใหม่ และยังถูกแบ่งเงินอีกครึ่งหนึ่งไปจ่ายตามภาระงาน แนวโน้มในอนาคต เชื่อว่าแพทย์โรงพยาบาลชุมชนต้องลดลงอย่างแน่นอน" นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชลจ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมหมอชนบททำนายอนาคตแพทย์ชนบท

การใช้ระบบเหมาจ่ายนั้น ได้นำอายุงานของแพทย์เข้ามาคำนวณ ร่วมกับระดับความทุรกันดารของพื้นที่ เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ในชนบททำให้ค่าตอบแทนแพทย์จบใหม่ในพื้นที่ปกติเพิ่มขึ้นประมาณ 53,100 เพื่อจูงใจให้แพทย์ในชนบทไม่ลาออก

แต่ระบบจ่ายแบบใครทำงานมากได้มาก ทำงานน้อยได้น้อยแสดงว่าแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯมีรายได้เท่ากับแพทย์ที่อยู่ในอำเภออมก๋อยจ.เชียงใหม่ ถ้าทำงานเท่ากัน

พุ่งเป้าทำยอดคนไข้อย่างเดียว ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 17 เมษายน 2556