สหรัฐกำลังดำเนินความพยายามอย่างหนัก เพื่อการสร้างสมดุลอย่างเหมาะสม ให้กับการเจรจาการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก ระหว่างการจัดหาสิทธิบัตร และการคุ้มครองข้อมูลอย่างแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิตยาแดนอินทรี กับการรับประกันว่าคนยากจนสามารถเข้าถึงยาได้

นายโพรบีร์ เมห์ตา รองผู้ช่วยผู้แทนเจรจาการค้าสหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังหาทางส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ที่จะทำให้เกิดการพัฒนายาใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็กำลังพยายามสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงยาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่การประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมการค้าระหว่างประเทศวอชิงตัน แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง ที่กลายมาเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในการเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นข้อเสนอถึงการจัดทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ กับ 10 ชาติเอเชีย แปซิฟิก ที่บรรดาผู้เข้าร่วมการเจรจาหวังว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายเมห์ตาระบุว่าในการประชุมครั้งที่กลางเดือนพคนี้ที่เปรูสหรัฐจะไม่มีการนำข้อเสนอใหม่ในด้านเวชภัณฑ์เข้าหารือแต่จะเน้นในเรื่องการพูดคุยแลกเปลี่ยนนโยบายของแต่ละประเทศภายใต้แนวคิดที่จะหาข้อสรุปร่วมกัน

บรรดาผู้ผลิตยาสหรัฐ ต้องการที่จะให้ข้อตกลงดังกล่าว มีการปกป้องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เหล่านักเคลื่อนไหวอย่างอ็อกซ์แฟม และกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน ต่างออกมาเตือนบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการเจรจา อย่าง เวียดนามและมาเลเซีย ว่า เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ราคายาในภูมิภาคแพงขึ้น เพราะทำให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตยาสามัญ

ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา นายรอน เคิร์ก อดีตผู้แทนเจรจาการค้าสหรัฐ ได้สรุปสถานการณ์การเจรจาให้กับสภาส่งออกสังกัดประธานาธิบดีสหรัฐว่า เป็นเรื่องยากอย่างมาก ที่จะทำให้ประเทศคู่เจรจารายอื่นๆ มองเห็นถึงความจำเป็นที่จะเคารพ ยอมรับ และนำไปปฏิบัติใช้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะบรรดาองค์กรภาคเอกชนในสหรัฐ คอยให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันต่อประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ ความตึงเครียดในการเจรจาข้างต้น เน้นให้อย่างชัดเจนในประเด็นเรื่องการผลิตยาชีวภาพ ที่ผู้ผลิตยารายใหญ่อย่าง ไฟเซอร์ และ อีไล ลิลลี รวมถึง สมาชิกวุฒิสภาหลายรายเรียกร้องให้ข้อตกลงทีพีพีไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลของการทดลองยาตัวใหม่เป็นระยะเวลา 12 ปี เพื่อยืดระยะเวลาในการพัฒนายาสามัญออกไป

สภาคองเกรสได้อนุมัติให้มีการป้องกันการแพร่ข้อมูลของยาชีวภาพเป็นระยะเวลา 12 ปี ส่วนหนึ่งของกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา การเคลื่อนไหวทีผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อคืนทุนให้กับบริษัทยาที่ต้องทุ่มค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 1,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนายาตัวใหม่

อย่างไรก็ตาม ในงบประมาณประจำปีของสหรัฐนั้น ทำเนียบขาวได้เสนอให้มีการลดระยะเวลาการห้ามเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวลงมาให้เหลือเพียง 7 ปี เพื่อกระตุ้นกระบวนการพัฒนายาสามัญให้เร็วขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพให้ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงานมูลค่ากว่าหลายพันล้านดอลลาร์

จนถึงขณะนี้คณะเจรจาการค้าของสหรัฐยังไม่ได้เรียกร้องให้มีการปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลยาชีวภาพเป็นระยะเวลาปีในข้อตกลงทีพีพีส่งผลให้เมื่อเร็วๆนี้วุฒิสมาชิกออร์รินแฮ็ทช์แกนนำพรรครีพับลิกันในคณะกรรมาธิการการเงินวุฒิสภาพออกมาแสดงความกังขาว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโอบามากำลังพยายามที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายสหรัฐให้มีมาตรฐานด้อยลงผ่านทางการเจรจาข้อตกลงทีพีพี

นายเมห์ตา ระบุว่า เห็นได้ชัดเจนว่ายาชีวภาพเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ และเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในด้านนวัตกรรมของสหรัฐ แต่จนถึงขณะนี้ สหรัฐยังคงอยู่ในช่วงเวลาของการให้ข้อมูล และหารือเรื่องดังกล่าวกับบรรดาประเทศคู่ค้า

แม้ท่าทีดังกล่าว อาจดูเหมือนว่าเป็นการสนับสนุนกลุ่มที่ต้องการให้มียาสามัญเกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะต้นๆ ที่ยาตัวใหม่ออกสู่ตลาด แต่ นางสเตฟานี เบอร์กอส ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของอ็อกซ์แฟม อเมริกากลับแสดงความวิตกว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา อาจจะแค่นั่งรอเวลาให้การเจรจายุติลง เพื่อเดินหน้ากดดันให้ได้ตามที่ต้องการ ด้วยการบีบให้ประเทศทีพีพีที่มีฐานะยากจนกว่า อย่าง เวียดนาม และมาเลเซีย ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะรับบทมาตรการป้องกันลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด หรือเดินออกไปจากกลุ่ม

"แทนที่จะประนีประนอมกัน กลับเป็นเหมือนว่า แขวนเรื่องทุกอย่างไว้ก่อนจนกว่าจะตกลงเรื่องอื่นได้ทั้งหมด และตั้งความหวังว่า ประเทศที่คัดค้านข้อเสนอนี้ จะไม่มีทางเลือกเหลือสำหรับคัดค้านเรื่องนี้อีก"นางเบอร์กอส ระบุ

ขณะที่ นายเจย์ เทย์เลอร์ รองประธานฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ จากสถาบันวิจัย และผลิตเวชภัณฑ์แห่งอเมริกา กล่าวว่ายาสามัญของยาเกือบทุกชนิด ล้วนมีอยู่ในตลาดของประเทศที่ร่วมเจรจาทีพีพี และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงนี้

"ถ้าหากว่าทีพีพีบรรลุการเจรจาในทิศทางที่ถูกต้องก็น่าจะช่วยลดภาษีและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยลงมาได้"นายเทย์เลอร์ระบุและว่าการยกระดับรายได้ในภูมิภาคน่าจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ง่ายดายขึ้น

บรรดาผู้ผลิตยาสหรัฐ ต้องการ ที่จะให้ข้อตกลงทีพีพี ปกป้องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 เมษายน 2556