พลันที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา "แบะท่า" จะให้มีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวต "วันแปรญัตติ" กันใหม่ หลังถูกพรรคประชาธิปัตย์ ท้วงติงและขู่ว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทยที่ประชุมร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคได้มีท่าทีผ่านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย 1 ในผู้ร่วมประชุมว่า
"ที่ประชุมเห็นด้วยกับนายสมศักดิ์ที่มีแนวคิดเรียกประชุมเพื่อลงมติในการกำหนดวันแปรญัตติใหม่ เพราะเมื่อยังเป็นประเด็นค้างคาใจของแต่ละฝ่ายก็ต้องทำให้เคลียร์ การกลับไปเปิดประชุมเพื่อลงมติใหม่นี้ไม่น่าจะมีผลหรือเป็นปัญหาในอนาคตเพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้หลังลงมติกำหนดวันแปรญัตติแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีประเด็นที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขั้นตอนดังกล่าวอีก"
แม้พรรคเพื่อไทยจะตั้งวงคิดกันมาอย่างรอบคอบ แต่ที่สุดก็ทำท่าจะตกม้าตาย สุดท้ายเลยต้องใช้การเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติอีกครั้ง
ฝ่ายค้านจะมาเท่าไหร่นั้นไม่สำคัญ หากฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 323 เสียง ก็จบ
แม้จะมองว่าเป็นการ "ถอย" แต่ก็เป็นการ "ถอย" ที่ตัวเองจะได้เดินหน้าต่อไปซึ่งก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
ถือว่าพรรคเพื่อไทยแก้ปมได้เข้าท่าทีเดียว
แต่ที่เป็น "ปม" และนับวันจะแน่นขึ้นทุกที คือปัญหาระหว่าง หมอกับหมอ
หมอซีกหนึ่งคือหมอชนบท ขณะที่หมออีกซีกคือ หมอการเมืองอย่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ฝ่ายหนึ่งทั้งไล่ทั้งล่าชื่อถอดถอน ทั้งเผาโลงทั้งส่งหรีด ขณะที่อีกฝ่ายก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นยังคงเดินหน้าตามนโยบายที่ตัวเองมองว่าเป็นประโยชน์
ความขัดแย้งครั้งนี้ผ่านมาแล้วร่วม 1 เดือน ยิ่งนับวันยิ่งมีแต่การเผชิญหน้า และเริ่มมีระดับของความรุนแรงมากขึ้นโดยที่ไม่มี "คนกลาง" เข้ามาร่วมคลี่คลายปัญหา
ขนาด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีปฏิกิริยากับเรื่องดังกล่าว
ล่าสุดมีข่าวว่า นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาฮึ่ม ๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของนพ.ประดิษฐว่า
"โดยระเบียบวินัยของข้าราชการมีกำหนดไว้อยู่แล้ว วันนี้แต่ สธ.ยังถือว่าน้องๆ อาจจะยังเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่เข้าใจก็ให้มาพูดคุยกัน แต่ต่อไปถ้ายังทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทำอะไรที่เกินขอบเขต เกินสิทธิหน้าที่ เกินวินัยข้าราชการที่ควรจะเป็นอาจจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ มีขีดจำกัดมีช่องทางดำเนินการอยู่แล้ว"
ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุขจะจบลงอย่างไร งานนี้อย่าว่าแต่ดู ขนาดเดายังเดาไม่ออกเลยจริง ๆ
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 เมษายน 2556
- 1 view