ความขัดแย้งระหว่างนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) และกลุ่มแพทย์ชนบท ดูจะหนักข้อขึ้นทุกที เมื่อการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน(P4P)ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการเมื่อวันที่31 มี.ค. และหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเร่งใช้นั้นกลายเป็นเรียกแขก ทำให้แพทย์และทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ออกแถลงการณ์ประท้วงไม่เว้นแต่ละวัน

จากหนึ่งคน กลายเป็นสิบโรงพยาบาล และจากสิบโรงพยาบาล กลายเป็นเครือข่ายโรงพยาบาล เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 20 แห่ง ที่ออกมาร่วมสังฆกรรมประณาม สธ. เป็นต้น

ยาแรงขนานนี้ยังทำให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนบางคนตัดสินใจลาออกไปก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้คิดคะแนนเพื่อจ่ายตามระบบP4P จริงจัง

แม้จะมีความพยายามชี้แจงจากผู้บริหารกระทรวงรายวัน แต่พอนานเข้าก็ยิ่งพูดคนละภาษามากขึ้นเรื่อยๆเพราะถ้อยแถลงของ นพ.ประดิษฐ เน้นย้ำในเรื่องความมั่นคงในระบบงบประมาณ หรือการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชนหรือระหว่างบุคลากรให้ลดลง

ขณะที่ฝั่งแพทย์ชนบทระบุว่า เมื่อP4P ไปลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะทำให้แพทย์ที่เคยอยู่ในชนบท ย้ายมาทำงานในเมืองหรือโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น เพราะอยู่ไปก็เท่านั้น ถึงอย่างไรก็ได้เงินเท่ากัน และยังคงไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการคิดคะแนน ที่อาจทำให้แพทย์ซึ่งรักษาคนไข้ด้วยหน้าที่นั้น กลับกลายเป็นทำเพื่อ"ล่าคะแนน" ให้ได้ค่าตอบแทนตาม P4P มากขึ้นแทน...

ล่าสุด นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ผู้อาวุโสของกลุ่มแพทย์ชนบท ถึงกับออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กด้วยการตอกนิ่มๆ ว่า การตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายค่าตอบแทน ควรจะปรึกษาผู้มีส่วนร่วมอย่างรอบคอบ เพราะการบริการผู้ป่วยต้องดูทั้งกายและใจต่างกับการสร้างคอนโดหรือรถยนต์

กระทบผู้บริหาร สธ.โดยตรงเพราะการเร่งเดินหน้า P4P กระชั้นชิดขนาดนี้ มาจากแนวคิดของหมอประดิษฐ และทีมงานข้าราชการไม่กี่คนเท่านั้นขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนไม่เคยได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเลย ขณะเดียวกันงานวิจัยที่ สธ.อ้างว่ามีการเก็บข้อมูลสถิติครบถ้วนแล้วเมื่อสอบถามไปถึงคนทำวิจัย และคนทดลองใช้ ก็พบว่ายังมีปัญหาการเก็บค่าคะแนนอยู่มากโดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน

ความดันทุรังในการเปลี่ยนเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน ไม่ต่างอะไรกับความพยายามในการปฏิรูปสธ. ด้วยการรวบอำนาจองค์กรอิสระในสังกัดตระกูล ส. เช่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับมาอยู่ใต้ร่มเงาอีกครั้ง โดยที่ไม่เคยหารือกับองค์กรเลย จนข้อมูลเล็ดลอดออกสื่อมาก่อนและมีแนวโน้มจะกลายเป็นเป้าใหญ่ในการโจมตีผู้บริหาร สธ.อีกหนึ่งเหตุผล ในที่สุด จึงสบช่องเชิญผู้บริหาร ตระกูล ส. มาชี้แจงเป็นครั้งแรกเมื่อ2 เม.ย.ที่ผ่านมา

สุ้มเสียงของผู้บริหารเมื่อเผชิญหน้าตรงๆดูจะแผ่วลงไป เพราะก่อนหน้านี้ปลัด สธ.ถึงกับประกาศกลางเวทีสัมมนาผู้บริหารระดับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ว่าตระกูล ส. หลายแห่งทำเกินอำนาจหน้าที่ไปเยอะ จึงต้องดึงกลับมาบ้าง แต่การชี้แจงวันนี้ เหลือเพียงการพร่ำบอกว่าจะไม่เข้าไปยุ่งกับโครงสร้างภายในตระกูล ส. หากไม่อยู่ในสถานการณ์ วิน-วินทั้งสองฝ่ายเท่านั้น

เหตุที่ยอมผ่อนปรน อาจเป็นเพราะรู้ดีว่าวันนี้ สถานะของหมอประดิษฐ และของตัวเองไม่ได้เข้มแข็งเหมือนช่วงฮันนีมูนก่อนหน้านี้แล้ว

กระนั้นเอง ฝ่ายการเมืองใน สธ.ก็ยังมีความพยายามเอาคืนด้วยการจัดการกับกลุ่มแพทย์ชนบท ที่เชื่อกันว่าเป็นฐานสำคัญในการเผชิญหน้า ทั้งในประเด็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน P4P ที่ขณะนี้ลามไปถึงการขับไล่รัฐมนตรีหรือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อต้านการยุบรวมตระกูล ส.

นำมาซึ่งการมอบหมายให้ กมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่ามีส่วนรู้เห็น ทำให้โรงงานวัคซีนแต่ละแห่งล่าช้ากว่ากำหนดหรือไม่ หรือเรื่องวัตถุดิบยาพาราเซตามอลว่าเพราะเหตุใดกระบวนการจัดซื้อที่ควรจะมีมาตรฐาน ถึงกับปล่อยให้มีการปนเปื้อนได้

ทำเอาคนใน สธ.งงกันเป็นแถว เพราะกระบวนการภายในก็สามารถตั้งกรรมการสอบสวนกันเองได้ แต่ นพ.ประดิษฐ กลับอ้างว่าให้ดีเอสไอสอบจะเป็นกลางมากกว่า??

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ดีเอสไอสอบสวนนั้นย่อมหวังจะให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ อภ.เป็นคนของตัวเอง เพราะคนในรับรู้กันดีว่า นพ.วิทิต มีความใกล้ชิดกับกลุ่มแพทย์ชนบท ยิ่งไปกว่านั้น หากพบว่า นพ.วิทิต มีความผิดจริงเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนที่ล่าช้าอาจเป็นไปได้สูงว่าสามารถโยงไปถึงคณะกรรมการ อภ.ขณะนั้น ที่ชื่อนพ.วิชัย โชควิวัฒน ซึ่งเป็นแพทย์ชนบทอาวุโส และถูกมองว่าเป็นผู้มีบารมีนอก สธ.มานาน

คาดการณ์อนาคตแล้ว เชื่อได้เลยว่าศึกระหว่างฝ่ายการเมืองและแพทย์ชนบทจะยังคงดำเนินต่อ และรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆหากครั้งนี้สธ.ไม่ยอมถอย ก็เป็นไปได้ว่า นพ.ประดิษฐ ที่ว่าคอนเนกชันกว้างขวางนั้น หากลูกน้องไม่เอาด้วยเลย ก็อาจหลุดจากเก้าอี้ได้เช่นกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 เมษายน 2556