แพทย์ชนบทอ่อนข้อเล็กน้อย "หมอเกรียงศักดิ์" เผยยอมคุย "กิตติรัตน์" เท่า นั้น เชิดใส่ "หมอประดิษฐ" อ้างทำฌาปนกิจไปแล้ว ผอ.รพ.แก่งคอย 1 ใน 10 รพ.หนูทดลองระบบ P4P เผยไม่ได้ผล ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะกันระหว่างฝ่ายงานต่างๆ แย่งแต้มผลงาน เสนอให้ค่อยๆ ใช้เพื่อปรับปรุงระบบ ไม่ใช่ยกแผง รพ.ทั้งประเทศ ด้านอดีตแพทย์ประธานหมอชนบทลั่นฟ้องศาลปกครองแน่ รองปลัด สธ.ยอมรับจ่ายเงินตามภาระงาน มีผลบังคับใช้ก่อน แต่จะศึกษาข้อดี-ข้อเสียภายหลัง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงการออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานของกระทรวง สาธารณสุข (สธ.) ว่า ตอนนี้ทราบว่ามติคณะรัฐมนตรีจริงๆ ยังไม่ผ่าน เพราะมีหลักฐานประจักษ์ชัดว่า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในฐานะผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่ สธ.ทำ ดังนั้น ครม.จึงให้กลับไปหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในวันที่ 27-28 มี.ค. แต่ชมรมแพทย์ชนบทคงไม่เข้าร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมแล้ว สธ.ไม่ฟังเราเลย จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมให้เสียงส่วนมากลากไปและคงไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากพูดคุยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. หากมีการเชิญไปร่วมแพทย์ชนบทก็พร้อมที่จะไป

"ส่วน รมว.สธ.ถือว่าได้ทำฌาปนกิจไปแล้ว จึงได้ตายไปจาก รพช.แล้ว ดังนั้น รพช.ได้แต่ไว้อาลัยตาม รพ. และอารยะขัดขืนทุกอย่าง" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า หากที่ประชุม ครม.สัญจรเห็นชอบในเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร นพ. เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ถ้ามติออกมาอย่างเป็นทาง การ ก็คงพิจารณายื่นต่อศาลปกครองได้ แต่ตอนนี้มติยังไม่ออก ยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่ารัฐมนตรีจะออกไป เพราะตอนนี้คงไม่สามารถพูดคุยกันได้ เพราะพูดอะไรไปก็ไม่ฟัง เรามีหลักฐานว่าคุยกันวันไหน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนมาร่วมชุมนุมมากขนาดนี้

ด้าน นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร ผอ.รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี กล่าวว่า รพ.แก่งคอยเป็น 1 ใน 10 รพ.ที่นำร่องการจ่ายพีฟอร์พี โดยดำเนินการมาประมาณ 3 ปีมาแล้ว พบว่ามีข้อบกพร่องหลายข้อที่จะต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาระในการเก็บข้อมูล เก็บรายละเอียดในการทำงาน เช่น การแทงน้ำเกลือ ทำแผลคนไข้ ต้องตรวจ ต้องผ่าตัด ยังไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปทำเรื่องนี้ ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการตรงนี้ แทนที่จะเอาเวลาไปดูคนไข้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความขัดแย้งว่าแต้มคนนั้นหรือคนนี้จะได้เท่าไหร่ ระหว่างฝ่าย ระหว่างงาน ระหว่างคน เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า สธ.ยังไม่ควรเร่งทำเรื่องนี้

"ที่ผ่านมาได้นำเสนอเรื่องนี้ผู้บริหารมาโดยตลอด ที่เสนอหนักๆ คือวันอาทิตย์ที่ผ่านมากับทีมที่ทำเรื่องนี้ ว่าที่ประกาศว่ามีความพร้อม ใครประกาศ เพราะคนที่ทำยังไม่พร้อมเลย ต้องพัฒนาอีกเยอะ ถ้าทำจำนวนมากๆ หลายร้อยโรงพยาบาล ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งทำให้สับสน โกลาหล เป็นภาระงาน คนไข้เสียประโยชน์ แทนที่จะเหมาจ่ายไป บุคลากรไม่ต้องมากังวลเรื่องนี้" นพ.ประสิทธิชัยกล่าว

เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่เห็นด้วยกับพีฟอร์พี นพ.ประสิทธิชัยกล่าวว่า ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่อยากให้ค่อยๆ พัฒนา ค่อยๆ ทำไป ไม่ใช่ทำพร้อมกัน 800-1,000 โรงพยาบาล เพราะแม้แต่โรงพยาบาลที่นำร่อง 10 แห่งก็ทำคนละแบบ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ จึงอยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะมีปัญหากันเยอะ" ผอ.รพ.แก่งคอยกล่าว

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผอ.รพ.ชุมพวง จ.นครราชีสมา และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า จะไม่เข้าร่วมในกระบวนการเจรจากับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เพราะได้พยายามพูดคุยหลายครั้งแล้ว แต่การบริหารงานของผู้ใหญ่ใน สธ.มีปัญหา ส่วนตัวแล้วเห็นว่าระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ยังคงไม่ชอบมาพากล เพราะทำอย่างเร่งรีบผิดปกติ โดยนำเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 มี.ค. และเพิ่งจะมีการหารือเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา และจะบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งหลายโรงพยาบาลยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดของระเบียบดังกล่าวเลย และยืนยันว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแน่นอน เพราะนโยบายนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า จะทำความเข้าใจกับกลุ่มแพทย์ชนบทในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อแนวทาง ขั้นตอนการทำงานจนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ อย่างไรก็ตาม อยากทำความเข้าใจว่า การตัดสินใจประกาศใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ยังไม่ได้เป็นการบังคับใช้เต็มรูปแบบ เพราะต้องให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 28 มีนาคม 2556