ในรอบ10 ปี การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ถึงเวลาต้องคุมงบประมาณรายปีของสธ. เพราะเมื่อรวมงบประมาณด้านป้องกันด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข เข้าด้วยกัน ก็ปาเข้าไป40% ของงบประมาณแผ่นดิน จึงต้องยกเครื่องใหม่ด้วยการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง
หนึ่งในนั้น คือการปรับค่าตอบแทนจากเบี้ยเหมาจ่าย เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พี4พี)
โมเดลที่ นพ.ประดิษฐ เสนอคือการจัดซื้อยาร่วมผ่านเขตสุขภาพ หรือการทำเมดิคัลฮับ เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. กล่าวว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบหน่วยงานบางส่วนทำงานซ้ำซ้อน การกระจายจากส่วนกลางลงไปไม่ถึงระดับโรงพยาบาลชุมชน ที่สำคัญเงินงบประมาณยังคงกองอยู่ที่สำนักงานปลัด สธ.อยู่มาก จึงต้องกระจาย 12 เขตสุขภาพออกไป
"จากเดิมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เคยแยกกันอยู่ ก็ต้องจับมารวมกันเป็นเขตสุขภาพเดียวกัน ด้วยการแชร์ทรัพยากร แชร์ห้องผ่าตัด โดยให้อำนาจผู้ตรวจราชการ สธ.ทั้ง 12 เขตเป็นผู้ดูแล" หมอณรงค์ ฉายภาพให้เห็น
ขณะเดียวกัน หน่วยย่อยของแต่ละกรมที่อยู่ในส่วนภูมิภาคจะถูกรวมเข้าเขตสุขภาพทั้งหมด โดยงบประมาณเดิมทั้งงบส่งเสริมสุขภาพและค่ารักษารายหัว จะลงไปที่เขตสุขภาพโดยตรงแทน
ในภาพกว้าง จะมีหน่วยงานอย่างคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่เสมือน "สภาพัฒน์" ด้านสุขภาพ ดูแลครอบจักรวาลในนโยบายสุขภาพทั้งหมด ทั้งมติบอร์ดองค์กรอิสระ รวมถึง
คณะกรรมการใน สธ. โดย นพ.ณรงค์ ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงองค์กรอิสระสังกัด สธ.เด็ดขาด
ทั้งหมดนี้ ปลัดณรงค์ ขีดเส้นตายว่าจะต้องเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยภายในวันที่ 1 ก.ค. จะต้องมีการส่งแผนการปรับโครงสร้างของแต่ละหน่วยงานมาที่ส่วนกลาง และเริ่มทดลองปรับโครงสร้างบางส่วนว่ายังมีจุดอ่อนจุดใดบ้าง
สอดรับเป็นอย่างดีกับการแต่งตั้งผู้บริหาร "องค์กรตระกูล ส." ที่ทยอยหมดวาระ และเริ่มแต่งตั้งใหม่ในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้ง นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีมาเป็นเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
หรือการแต่งตั้ง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ นพ.ประดิษฐมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รับหน้าที่วิจัยผลการปฏิรูป สธ.ครั้งนี้ด้วย ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ก็หนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเต็มสูบ ด้วยการยกตัวอย่างว่า องค์กรอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ถือเป็นน้ำมันเครื่องสปสช.เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเครื่องยนต์อย่างสธ.ไปด้วยกันแยกจากกันไม่ได้
ตรงกันข้ามกับ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือการรวบอำนาจอย่างหนึ่ง เพราะการให้อำนาจผู้ตรวจราชการลงไปเป็นอธิบดีเขตนั้นหมายความว่าการกระจายอำนาจที่เคยวาดฝันมาก่อนหน้านี้ที่จะให้แต่ละโรงพยาบาลเป็นอิสระในการดูแลตัวเองได้ แต่ในโครงสร้างใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้ร่วมตัดสินใจในฐานะกรรมการด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าระบบเบิกจ่ายเงินที่โรงพยาบาลชุมชนเคยเบิกจาก สปสช.ได้ ก็ต้องกลับไปเบิกกับ สธ.ใหม่
ไม่ต่างอะไรกับการถอยหลังไปเป็น10 ปี
นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการฯ แต่ละคนที่มีอำนาจล้นฟ้าในฐานะเทียบเท่าอธิบดีเขต ก็มีความใกล้ชิดกับอำนาจทางการเมือง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า หากมีคำสั่งจากนักการเมืองลงมาให้ผู้ตรวจราชการฯ เขต เขตก็จะสนองตอบด้วยหวังจะเติบโตในระบบราชการ ดังนั้นในอนาคตฝ่ายการเมืองจะคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ
นพ.วชิระ เสนอแนะว่า สธ.ควรกลับมาอยู่ในบทบาทที่เป็นอยู่ทั้งเรื่องการดูแลมาตรฐานยาหรือ ในภาพกว้างอย่างนโยบาย มากกว่าที่จะคุมเงินและอำนาจจำนวนมากๆ และคิดจะปฏิรูปทุกอย่างโดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมอย่างในปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 มีนาคม 2556
- 1 view